เรียนธรรมในธุรกิจ : ธรรมะสอนซีเอสอาร์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย zipper, 8 ธันวาคม 2008.

แท็ก: แก้ไข
  1. zipper

    zipper เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2004
    โพสต์:
    5,226
    ค่าพลัง:
    +10,590
    โกศล อนุสิม
    เมื่อ 10 ปีก่อน กระแสธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ไหลทะลักท่วมโลกธุรกิจทั้งไทยและเทศ จนกลายเป็นลัทธิเอาอย่างเรื่องธรรมาภิบาลไปกันหมด โดยทำจริงบ้าง ทำหลอกบ้าง ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ได้แบบแท้บ้าง แบบเทียมบ้าง ก็ว่ากันไป เพราะหากไม่หยิบเอามาใส่ในองค์กรของตนก็คงกลัวจะเป็นที่รังเกียจของสังคมธรรมาภิบาล ซึ่งถึงตอนนี้ก็คงพอจะรู้แล้วว่า องค์กรใดบ้างที่มีธรรมาภิบาลจริงๆ

    พ้นจากกระแสธรรมาภิบาลก็มาสู่กระแสรับผิดชอบสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) บางทีก็เรียกว่า Business for Social Responsibility (BSR) จะเรียกอะไรก็สุดแท้แต่ ความหมาย ก็คือ การแสดงความรับผิดชอบแก่สังคม ด้วยการแบ่งปันกำไรมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ พูดให้ง่ายเข้า ก็คือ การคืนกำไรให้สังคมนั่นเอง

    ปัจจุบัน CSR ดูเหมือนกลายเป็น "ลัทธิเอาอย่าง" เช่นเดียวกับ Good Governance ในอดีต นั่นคือ องค์กรน้อยใหญ่ต่างท่องคาถา CSR กันอย่างขนานใหญ่ มีโครงการร้อยแปดพันเก้าที่อ้างว่าเป็นการแสดงถึง Corporate Social Responsibility ขององค์กร ซึ่งจะจริงแท้แค่ไหนนั้นก็ไม่อาจทราบได้ และมีผู้ที่ทำได้เข้าใจแก่นแท้ของ CSR เพียงใด ข้อนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าจะพิจารณากันด้วย

    เท่าที่ผมได้อ่านเพื่อศึกษาเรื่อง CSR ที่ว่านี้ คนให้ความหมายไว้ร้อยแปดพันเก้าอย่าง แต่คำอธิบายของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย น่าจะตรงความหมายและวัตถุประสงค์มากที่สุด

    ดร.โสภณ พรโชคชัย ให้คำอธิบาย CSR ว่า "การเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม โดยไม่ไปเบียดเบียนฝ่ายใด วิสาหกิจที่มี CSR ย่อมไม่ขูดรีดแรงงานลูกจ้าง ไม่ฉ้อโกงลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำร้ายชุมชนโดยรอบที่ตั้งของวิสาหกิจด้วยการก่อมลพิษ วิสาหกิจที่ขาด CSR ย่อมสะท้อนถึงการขาดซึ่งความโปร่งใส ผู้บริหารในแทบทุกระดับมักหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือฉ้อโกง การมี CSR เป็นการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ถ้าใครจะทำให้ดีเกินมาตรฐานกฎหมาย หรือจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มเติมก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การไม่ทำผิด หมิ่นเหม่หรือหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญา ด้วยเหตุนี้ การทำ CSR จึงต้องมีกรอบกฎหมายบังคับ"

    สรุปตามที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย อธิบายไว้ให้สั้นเข้า ก็คือ การที่องค์กรใดจะมี CSR ที่แท้ได้ องค์กรนั้นจะต้องทำตามกฎหมายและศีลธรรมครบถ้วน ดังนั้น องค์ประเภทที่ได้กำไรจากการมีนอกมีใน เลี่ยงภาษี ทำบัญชีปลอม ผูกขาดขูดรีด มีผลประโยชน์ทับซ้อนนัวเนีย องค์กรเหล่านี้ย่อมละเมิดทั้งกำหมายและศีลธรรม แม้จะเอาเงินมากมายมาทำ CSR ก็หาได้เป็นของแท้ไม่

    ทอดตาทั่วแผ่นดิน ก็เป็นที่สงสัยว่าจะมีสักกี่แห่งที่เข้าข่าย CSR ที่แท้ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย บ้าง

    อันที่จริงแล้ว เรื่อง CSR นี้ มีอยู่ในคำสอนของทุกศาสนา เป็นธรรมะที่ศาสดาทุกพระองค์สอนไว้มานานนับเป็นพันๆ ปีแล้ว พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ในหลายที่หลายแห่ง ในธรรมะหัวข้อต่างๆ อาทิเช่น สังคหวัตถุ คือ การสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน ก็เป็นการสอน CSR ที่นำมาใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคลจนถึงองค์กรทุกขนาด ประกอบไปด้วย

    1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อแบ่งปันสิ่งของที่ตนมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น

    2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ

    3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิด หรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

    4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย

    ทั้ง 4 ประการนี้ เป็นข้อธรรมที่เข้าไปได้กับ CSR ที่กำลังเอาอย่างกันอยู่ในขณะนี้ พุทธศาสนิกชนที่เข้าใจในธรรมะหมวดนี้ ซึ่งเป็นผู้นำองค์กรธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลในอินเดีย จนมาถึงสมัยก่อนในประเทศไทย ก็ล้วนแต่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยใจที่แท้จริงมาแล้วทั้งสิ้น โดยไม่ต้องมีกระบวนการอะไรมากมายให้ยุ่งยาก

    ตัวอย่างเช่น บรรดาเศรษฐีผู้มีทรัพย์ในสมัยพุทธกาล ตั้งโรงทานแก่ผู้ยากไร้เป็นจำนวนมาก บ้างก็บริจาคทรัพย์สร้างศาสนสถานถวายแก่พระศาสนา อาทิเช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น หรือนักธุรกิจไทยสมัยที่ผ่านมาย้อนหลัง 30-40 ปี ขึ้นไป ต่างก็บริจาคทรัพย์ของตนสร้างประโยชน์แก่สาธารณะมากมาย ปรากฏหลักฐานมาถึงทุกวันนี้ อาทิเช่น อาคารสาธารณะต่างๆ มูลนิธิเพื่อการกุศลที่สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และผู้คนเป็นจำนวนมหาศาล โดยมิต้องออกข่าว โหมกระพือตามสื่อต่างๆ เหมือนบรรดานัก CSR ในองค์กรยุคปัจจุบัน เพราะการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องการการป่าวประกาศแต่อย่างใด ให้ก็คือให้ มิได้เอาหน้า แบบนี้คงพอจะสังเคราะห์เข้ากับความหมายของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้

    ขอฝากไว้ให้สังคม CSR พิจารณาครับ

    ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2008/08/21/news_27071815.php?news_id=27071815
     

แชร์หน้านี้

Loading...