เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 สิงหาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,525
    ค่าพลัง:
    +26,362
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,525
    ค่าพลัง:
    +26,362
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพื่อทำการตรวจประเมินยกหมู่บ้านแสนกะบะ หมู่ที่ ๓ ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ขึ้นเป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบ

    ส่วนที่ดีใจก็คือได้กราบพบท่านเจ้าคุณอาจารย์ปราโมทย์ - พระราชวชิรานุสิฐ, ผศ., ดร. เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ท่านสอนกระผม/อาตมภาพมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพระมหาปราโมทย์ ปโมทิโต ป.ธ. ๙ ในสองวิชา ก็คือ วิชาพระไตรปิฎกศึกษา และวิชาบาลีไวยากรณ์ มาภายหลังท่านเจริญเติบโตขึ้นมาในสายงาน เป็นรองเจ้าคณะจังหวัด เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญที่พระปิฎกโกศล แล้วมาได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระราชวชิรานุสิฐ กระผม/อาตมภาพจึงกราบขออนุญาตถวายมุทิตาท่านเจ้าคุณอาจารย์ด้วยเบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ๑ ตัว

    แล้วก็ได้กราบพบหลวงพ่อเจ้าคุณทองย้อย - พระภาวนาวิหารกิจ วิ. (ทองย้อย สญฺญโม) เจ้าอาวาสวัดเขาวัง (ราชบุรี) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เพื่อนพระอุปัชฌาย์
    รุ่นที่ ๕๑

    ได้พบหลวงพ่อแดง - พระเมธีวัชรประชาทร (ประยูร นนฺทิโย), ผศ., ดร. ผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดอินทาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านยังปรารภว่า "ผมจะทำอย่างไรถึงดังแบบหลวงพ่อเล็กได้บ้าง ?" กระผม/อาตมภาพตอบกลับไปว่า "ที่ดังอย่างพวกเราก็คือ เวลาเขามาขอความช่วยเหลือแล้วเราสามารถที่จะช่วยเขาได้" หลวงพ่อแดงท่านก็หัวเราะ บอกว่า "ปฏิปทาพระโพธิสัตว์แบบนี้ ถ้าไม่ใช่คนคอเดียวกันนี่ จะไม่เข้าใจกันเลยว่าทำไมเราถึงต้องช่วยเขาด้วย ?"

    ส่วนเพื่อนฝูงอีกท่านหนึ่งก็คือพระครูภาวนาโชติคุณ (กุ้ยไฮ้ ชุตินฺธโร), ดร. หรือที่เรียกกันว่าหลวงพ่อดำในวงการพระเกจิอาจารย์ หรือว่าเพื่อน ๆ เรียกกันว่าหลวงพ่อกุ้ยไฮ้ เจ้าอาวาสวัดถ้ำสิงห์โตทอง ซึ่งเป็นวัดที่พระเดชพระคุณหลวงปู่โต๊ะ (พระราชสังวราภิมณฑ์) วัดประดู่ฉิมพลี ท่านเคยธุดงค์มาจำพรรษาอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อดำท่านเป็นเจ้าคณะตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึงแห่งนี้ ถือว่ามาในฐานะของเจ้าของพื้นที่
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,525
    ค่าพลัง:
    +26,362
    เมื่อได้เวลาต้องทำการตรวจประเมินก็มีการแสดงของเด็ก ๆ ไทยทรงดำ ซึ่งทางด้านกระผม/อาตมภาพเรียกว่าลาวโซ่ง ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า ลาวโซ่งไม่ใช่ลาวเวียงจันทน์ และไม่ใช่ลาวอีสาน มีภาษาพูดของตนเองออกไปต่างหาก เรียกพ่อว่า "เอ๊ม" เรียกแม่ว่า "ไอ๊" ถ้าถามว่าจะกลับบ้านหรือ ? ก็ถามว่า "ต๋าวเฮือนเอ๊ ?"

    กระผม/อาตมภาพตอนเด็ก ๆ สามารถพูดภาษาลาวโซ่งได้มาก เพราะว่าโยมแม่ไปทำการแลกข้าวที่บ้านสระ ซึ่งพวกเพื่อน ๆ ที่ขึ้นต้นนามสกุลด้วยคำว่าสระ ส่วนใหญ่แล้วมีเชื้อสายลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำทั้งนั้น อย่างเช่นว่า "สระทองเทียน สระหงษ์ทอง" เหล่านี้เป็นต้น หรือขึ้นต้นด้วยคำว่าเพชร เช่น "เพชรแอง" เป็นต้น แม้กระทั่งกระผม/อาตมภาพที่พี่สาวไปเปลี่ยนนามสกุลเป็น "เพชรชื่นสกุล" คนก็ยังหลงคิดว่าเป็นลาวโซ่งเช่นกัน

    เมื่อเด็ก ๆ แสดงจบก็รับรางวัลกันไปตามระเบียบ โดยที่กระผม/อาตมภาพแอบให้ไปตั้งแต่แรกที่เข้ามาแล้ว เมื่อขอถ่ายรูปกับเด็ก ๆ ก็ควักกระเป๋าให้ไปคนละ ๓๐๐ บาท บอกว่า "เป็นค่าถ่ายรูป" ทำเอาเด็ก ๆ ยิ้มกันแก้มปริ

    แต่ครั้นเข้าสู่ที่ตรวจประเมินแล้ว กระผม/อาตมภาพก็เครียด บรรดาคณะกรรมการมองหน้ากัน เนื่องเพราะว่าทางด้านบ้านแสนกะบะ นี้น่าจะไม่มีความชำนาญในการลงข้อมูลเข้าสู่ระบบออนไลน์ พวกเราจึงต้องรอฟังรายงานจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ก็คือนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ แล้วก็ฟังรายงานจากท่านนายอำเภอจอมบึง ฟังรายงานจากท่านผู้ใหญ่บ้านแสนกะบะ แล้วมาสรุปรวมกันถึงความอัศจรรย์ของหมู่บ้านแห่งนี้

    ที่ได้ชื่อว่าแสนกะบะนั้น เพราะว่าในสมัยที่พระเจ้าปดุงส่งกองทัพพม่าเข้ามาตีประเทศไทย หวังจะยึดให้ได้เป็นการประกาศศักดาบารมี ได้ส่งทหารเข้ามาถึง ๑๔๔,๐๐๐ นาย โดยแยกออกเป็น ๙ กองทัพ ทหารที่ผ่านมาทางด้านนี้ เมื่อถึงเวลาจะกินอาหารก็อาศัยกะบะที่ทำมาจากกาบหมาก ซึ่งโบราณเรียกว่า "กาบปูเล" หรือว่า "กะโปเล" ในการรองอาหารเพื่อรับประทาน ครั้นเสร็จสรรพเรียบร้อยก็โยนทิ้ง แล้วก็ทำกะบะอันใหม่

    ด้วยความที่ตั้งกองทัพอยู่หลายวัน จากกองทัพจำนวนเป็นพันเป็นหมื่น จึงมีกะบะอาหารทิ้งอยู่เป็นแสนอัน..! เขาถึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่าแสนกะบะ ตามนิมิตหมายที่เกิดจากศึกสงครามครั้งนั้น แปลว่าหมู่บ้านแห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ชุมชนที่น่าสนใจมาก แสดงว่าต้องเป็นลูกหลานของวีรชนคนไทยเก่า ๆ ที่ช่วยกันดูแลรักษาประเทศชาติของเรา จนอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงปัจจุบันนี้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,525
    ค่าพลัง:
    +26,362
    ใครที่ตั้งคำถามว่า "ทหารมีไว้ทำอะไร ?" "สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างไร ?" แสดงว่าบรรดาบุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะบิดามารดา หรือว่าลูกหลานก็คงจะไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ว่าบรรดาเจ้าพระยามหากษัตริย์และบรรพบุรุษของเรา ต้องเอาเลือดทาแผ่นดิน เพื่อที่จะได้มีประเทศชาติมาให้พวกเราได้อยู่อาศัยและตั้งคำถามบ้า ๆ แบบนั้นมาจนทุกวันนี้..!

    กระผม/อาตมภาพเมื่อได้รับหน้าที่ในการซักถาม ได้ทำการซักถามแล้วก็สรุปให้คณะกรรมการทั้งหลายฟังว่า ตั้งแต่ทำการตรวจยกหมู่บ้านศีล ๕ ต้นแบบเป็นต้นมา หมู่บ้านแสนกะบะแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่อัศจรรย์ที่สุด เนื่องเพราะว่ามีสำนักสงฆ์หลายแห่งอยู่ในหมู่บ้าน โดยเฉพาะสำนักสงฆ์เขากลางตลาด อยู่ใจกลางหมู่บ้านแสนกะบะพอดี แต่ว่าชาวบ้านไปปฏิบัติธรรมที่วัดจอมบึง..!

    ทุกท่านต้องเข้าใจว่าหมู่บ้านแสนกะบะอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลจอมบึง วัดจอมบึงอยู่หมู่ที่ ๑๐ ตำบลจอมบึง แล้วโดยรอบของหมู่บ้านแสนกะบะก็เป็นหมู่บ้านอื่นที่ไม่ใช่หมู่ที่ ๑๐ แปลว่าต้องเดินทางกันข้ามหมู่บ้านเพื่อไปยังสถานที่ปฏิบัติธรรม..! แล้วก็ได้รับความเมตตาต้อนรับเป็นอย่างดีจากท่านเจ้าอาวาส

    อีกประการหนึ่งก็คือสิ่งที่เป็นความภูมิใจของชาวบ้านที่นี้ ได้แก่ ไร่สุขพ่วง ซึ่งนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยศาสตร์พระราชามานำชีวิต ทำให้สามารถเป็นตัวอย่างแก่ทุกคนได้ว่า การทำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างาม และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนทั่วทั้งประเทศไทย อยู่ในลักษณะที่ว่าเอกชนนำราชการ วัด และโรงเรียน..!

    อีกส่วนหนึ่งก็คือการจัดการตรวจประเมินมาจัดที่หอประชุมรัตนพฤกษ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ประหลาดมาก ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะอยู่ประจำจังหวัด แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้ชื่อปรากฏอย่างชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ "หมู่บ้านจอมบึง"
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,525
    ค่าพลัง:
    +26,362
    การที่ญาติโยมทั้งหลายอยู่ในหมู่บ้านแสนกะบะ ไปปฏิบัติธรรมที่วัดจอมบึง มีไร่สุขพ่วงเป็นตัวอย่างในการทำเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ได้รับการอนุเคราะห์สงเคราะห์สถานที่ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทำให้เห็นว่าทุกภาคส่วนนั้นต้องประกอบไปด้วยหลักธรรม

    อันดับแรกเลยคือสามัคคีธรรม ถ้าไม่รักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกัน ไม่มีทางที่จะทำแบบนี้
    ได้

    อันดับที่สองก็คือต้องมีเมตตาธรรม ถ้าไม่มีเมตตาธรรม ก็ไม่สามารถที่จะติดต่อประสานงาน แล้วได้รับความอนุเคราะห์สงเคราะห์ไปเสียทุกที่

    และอันดับสุดท้ายก็คือต้องมีคุณธรรม ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีคุณธรรมอยู่ในจิตใจไม่เพียงพอ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่นได้ แต่นี่วัด มหาวิทยาลัย ส่วนราชการ และไร่เอกชน สามารถประสานกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าชื่นชม

    ถ้าในสายตามองโลกในแง่ลบ ก็คือหาความดีไม่ได้เลย กระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง แต่ถ้าหากว่าเรามองโลกในแง่บวก จะเห็นข้อธรรมดี ๆ ของชาวบ้านเหล่านี้ มีอยู่มากมายมหาศาลสมกับที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเรียนถวายไป บรรดาคณะกรรมการทั้งหลายก็ยังทำหน้างง ๆ กระพริบตาปริบ ๆ อยู่ในลักษณะว่า "แบบนี้ก็ได้ด้วยหรือ ?" กระผม/อาตมภาพแค่อยากจะบอกให้เห็นว่า เวลาคนเรา "มองต่างมุม" ก็จะเหมือนกับที่ภาษิตฝรั่งที่ได้รับการแปลเป็นไทยว่า "สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย"

    นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "มองโลกในแง่บวก" กระจายพลังบวกให้กับคนอื่น ไม่เอาสิ่งที่เป็นแง่ลบเข้ามาอยู่ในจิตในใจของเรา ถ้าท่านทั้งหลายรับแต่ส่วนดี สลัดทิ้งส่วนชั่วไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด เมื่อชั่วหมด ดีเต็ม ท่านจะไปไหนได้ ? นอกจากหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...