เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 10 พฤษภาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ หลังจากเจริญพระกรรมฐานและทำวัตรเช้าร่วมกับพระภิกษุวัดท่าขนุนและญาติโยมแล้ว กระผม/อาตมภาพไม่ได้ออกบิณฑบาต ไปฉันเช้าที่โรงครัว จากนั้นก็วิ่งลงไปตัวจังหวัดกาญจนบุรี โดยแวะที่ใจสุวรรณรีสอร์ต บริเวณบ้านลิ่นถิ่น

    เนื่องเพราะว่าที่รีสอร์ตแห่งนี้ มีการรวมตัวกันของชาวสวนทุเรียน เพื่อนำเอาทุเรียนทองผาภูมิที่คัดคุณภาพแล้วมาจำหน่ายที่นี่ โดยที่มีคิวอาร์โค้ดและเบอร์โทรศัพท์ติดไว้ให้ทุกลูก ถ้าหากว่ามีทุเรียนที่ไม่ดี แค่เราถ่ายรูป แล้วส่งเข้าไปในเฟซบุ๊กตามคิวอาร์โค้ดนั้น ทางไร่ที่เป็นเจ้าของทุเรียนก็จะทำการชดเชยให้

    กระผม/อาตมภาพจะเอาทุเรียนมาฝากคุณนวลจันทร์ เพียรธรรม ประธานกรรมการบริษัทเอ็นซีทัวร์ เนื่องจากว่าคุณนวลจันทร์เคยไปซื้อทุเรียนทองผาภูมิ แล้วไปเจอทุเรียนอ่อนเข้าลูกหนึ่ง ต้องบอกว่าเสียความรู้สึกไปหน่อย จึงต้องมีการเยียวยากันในครั้งนี้ เพียงแต่ว่าทุเรียนต้นฤดูแบนนี้ ก็จะลูกเล็กอยู่สักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นก้านยาว หมอนทอง หรือว่ามูซังคิง

    คำว่า มูซังคิง จะว่าไปแล้วเป็นภาษายาวีปนภาษาอังกฤษ มูซังนั้นมาจากคำว่า หมูสัง ก็คืออีเห็น คำว่าคิง ก็คือราชา เนื่องเพราะว่าทุเรียนชนิดนี้เป็นทุเรียนพื้นบ้านทางปักษ์ใต้ ต่อไปจนถึงมาเลเซีย เมื่อถึงเวลาลูกสุก ก็จะโดนหมูสัง หรือมูซัง หรือว่าอีเห็นนั่นแหละ..มาเจาะกินไปก่อน ทำให้คนเชื่อว่าอร่อยในระดับพระราชา จึงเรียกว่ามูซังคิง

    ปัจจุบันนี้ทางอำเภอทองผาภูมินั้น มีผลไม้ทุกชนิดเป็นของตนเอง ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ เลยก็คือเงาะทองผาภูมิ และทุเรียนทองผาภูมิ ส่วนอื่นก็คุณภาพดีมาก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ทั่วไป หรือว่าผลไม้เมืองหนาว ตลอดจนกระทั่งบรรดาแตงหวานต่าง ๆ ที่สมัยนี้เรียกกันว่า "เมล่อน" แต่กระผม/อาตมภาพถนัดเรียกว่า "แตงญี่ปุ่น" มากกว่า

    เมื่อได้ผลไม้ที่ต้องการแล้ว ก็วิ่งตรงมายังวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) เพื่อเข้าร่วมพิธีปิดการอบรมพระสังฆาธิการผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ รุ่นที่ ๓/๒๕๖๗ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความจริงก็ควรที่จะไปถึงวัดไร่ขิงก่อน แต่ปรากฏว่าเจ้ามูซังคิงลูกนั้นออกฤทธิ์ ด้วยการส่งกลิ่นมาทำให้กลายเป็นรถกลิ่นทุเรียน..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    กระผม/อาตมภาพจึงต้องให้น้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) วิ่งตรงไปยังวัดอุทยาน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีก่อน เนื่องเพราะว่าจุดนั้นห่างจากวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) แค่ ๒๐ กว่ากิโลเมตรเท่านั้น แล้วก็โทรศัพท์หาคุณนวลจันทร์ ซึ่งส่งคุณหนึ่ง (ณิชชารีย์) พนักงานในบริษัทมารับเอาทุเรียนไป จะมอบให้กินฟรีก็ไม่ยอม มีการจ่ายเงินมาตามราคาอีกด้วย แล้วกระผม/อาตมภาพจึงวิ่งไปร่วมพิธีปิดที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง)

    ในระหว่างที่เดินทางมาจากกาญจนบุรี จนกระทั่งถึงนนทบุรี และนครปฐมนั้น กระผม/อาตมภาพก็เข้ารับการอบรมเพิ่มทักษะ (Upskills) การสอนวิชาปรัชญาเบื้องต้น ซึ่งบรรยายโดยพระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ ป.ธ.๙) องค์อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปด้วย เนื่องเพราะว่าเป็นการอบรมผ่านระบบซูมมีตติ้งออนไลน์ ทำให้สามารถรับฟังและซักถามจากจุดไหนก็ได้ ขอให้มีคลื่นอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

    พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ได้กล่าวว่า "ความจริงจะว่าไปแล้ว การเรียนในระดับปริญญาเอกสาขาโน้น สาขานี้นั้น ในสมัยก่อนใช้ชื่อเดียวกันหมด ก็คือเมื่อจบมาแล้วก็เป็น Doctor of Philosophy ก็คือเป็นคุณหมอทางปรัชญา ซึ่งคำว่า Doctor หรือหมอ ของภาษาอังกฤษในสมัยก่อน ก็มีความหมายเดียวกับของไทย อย่างเช่นว่า หัวหมอ หรือว่าหมอความ เหล่านี้เป็นต้น ก็แปลว่าคนที่เก่งสุดยอดในด้านนั้น โดยเฉพาะเมื่อเรียนไปถึงจุดนั้นแล้ว บุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง สามารถที่จะเชื่อมโยงกับทุกวิชาได้"

    เมื่อฟังมาถึงตรงนี้ กระผม/อาตมภาพก็ตระหนักถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทันที เนื่องเพราะว่าพระองค์ท่านทรงรอบรู้ทุกสิ่ง โดยเฉพาะทรงประกอบไปด้วยสมันตจักษุ (สัพพัญญุตญาณ) คือความรู้รอบ รู้ลึก รู้จริง ในทุกเรื่อง แม้แต่องค์พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เช่นเดียวกัน ยังขาดสมันตจักขุตรงนี้ ทำให้ไม่สามารถที่จะรู้เห็นทุกประการได้ชัดเจน เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา

    ในสมัยก่อนบรรดาผู้ที่เรียนจบปริญญาเอกแล้ว จึงมักจะมีความรู้ความสามารถที่แท้จริง โดยเฉพาะตอนที่กระผม/อาตมภาพเรียนอยู่นั้น ท่านอาจารย์บอกว่า "คำว่า Doctor of Philosophy นั้น ก็คือผู้ที่เป็นแพทย์ หมายความว่าเมื่อท่านจบแล้ว ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการรักษาเยียวยาสังคมของเราที่เจ็บป่วยอยู่ นำทางคนอื่นให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง"
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ดังนั้น..วิชาปรัชญาสมัยก่อน จึงนิยมเรียนกันมาก โดยเฉพาะเดินทางไปเรียนถึงประเทศอินเดีย บุคคลที่มีชื่อเสียงเลื่องลือเลย ก็คือท่านอาจารย์กรุณา และท่านอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย ซึ่งทั้งสองท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก

    แต่ในปัจจุบันนี้ ด้วยความที่เราสามารถศึกษาได้จากแทบทุกมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงต้นตำรับที่ประเทศอินเดีย ทั้งยังสามารถค้นคว้าจากห้องสมุดดิจิทัลได้ ก็เลยทำให้เราท่านทั้งหลายลดความสำคัญของวิชาปรัชญาลง โดยที่ไม่ทราบเสียด้วยซ้ำไปว่า ทำไมในระดับปริญญาตรี ถึงต้องเรียนวิชาปรัชญาเบื้องต้น ? แล้วหลังจากนั้น ถึงได้เพิ่มขึ้นไปเป็นปรัชญามหาบัณฑิต หรือว่าปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก

    ความจริงวิชาปรัชญานั้น กระผม/อาตมภาพมีความเห็นส่วนตัวว่า "เป็นวิชาที่ยังเถียงกันไม่จบ" เนื่องเพราะว่าถ้าหากว่าเถียงกันจบ ก็คือสรุปลงมาได้แล้ว ก็จะกลายเป็นศาสตร์ อย่างเช่นว่าจริยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ถ้ายังถกเถียงกันอยู่ ส่วนนั้นก็จะจัดว่าเป็นปรัชญา จึงทำให้บุคคลบางท่านเข้าใจผิด คิดว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือปรัชญาในพระพุทธศาสนา ซึ่งกระผม/อาตมภาพ ได้คัดค้านทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดคำว่าปรัชญาพระพุทธศาสนา เนื่องเพราะว่าปรัชญานั้นยังเถียงกันไม่จบ ต่อให้ที่เถียงกันจบแล้ว ถ้ามีคนยกทฤษฎีที่มีเหตุผลมากกว่าขึ้นมา ก็ยังสามารถที่จะหักล้างได้

    แต่ว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ เป็นความจริงแท้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว อย่างที่พระองค์ตรัสว่า สรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน สรรพสิ่งนั้นมีแต่ความทุกข์ สรรพสิ่งนั้นไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขา ให้ยึดถือมั่นหมายได้

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความจริงแท้ ต่อให้คุณจะศึกษาวิชาการสายไหนมาก็ตาม เมื่อพินิจพิจารณาในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ก็สามารถที่จะเข้าถึง และยอมรับอย่างแท้จริงได้ ว่านี่เป็นปกติ เป็นธรรมดา เป็นความจริงของโลก
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีสมมติสัจจะ ก็คือสิ่งที่สมมติขึ้นมาจนเป็นความจริง อย่างเช่นว่าตัวตนเราเขา ที่เขากำหนดไว้ว่าชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ว่าเป็นความจริงในระดับสมมติ ก็คือบุคคลนั้นก็จะยอมรับว่าตัวตนของเขาชื่อนั้น แต่ถ้าหากว่าเป็นบุคคลอื่นที่ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน ถ้าเราเอ่ยถึงชื่อนั้น เขาก็เฉย ๆ หาได้ยอมรับไม่ เป็นต้น

    ดังนั้น..ในเรื่องของการเรียนวิชาปรัชญา ถ้าจะให้มีความสนุกและเข้าใจง่าย ต้องตั้งวงถกกันอย่างชนิดที่เรียกว่า "สภากาแฟ" ในสมัยก่อน เพียงแต่ว่าต้องมีบุคคลที่รู้ลึก รู้จริง เป็นผู้ควบคุมในวิวาทะเหล่านั้น เพื่อที่ถึงเวลาแล้วจะได้ไม่เกิดการ "ล้ำเส้น" จนกระทั่งเกิดอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นมา บางทีก็ผิดใจกันไปในระดับ "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" กันไปเลย..!

    เมื่อทำการอบรมเสร็จสรรพเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็เข้าร่วมในพิธิปิดการอบรมเจ้าอาวาสใหม่ ตลอดจนกระทั่งการรับวุฒิบัตรผ่านการอบรมของเจ้าอาวาสใหม่ทั้ง ๘๑ รูป โดยเฉพาะการให้โอวาทของพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ซึ่งท่านก็ย้ำในสิ่งที่ท่านพูดอยู่เสมอว่า "ขอให้เจ้าอาวาสใหม่ทุกคน รู้จักหน้าที่ ทำตามหน้าที่ อย่าละเลยหน้าที่ และอย่าทำเกินหน้าที่"

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถที่จะกระทำได้ ดังที่ได้มอบพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตราที่ ๓๗ และ ๓๘ ใส่กรอบให้กับทุกรูปไปแล้ว ซึ่งมาตราที่ ๓๗ นั้นระบุถึงหน้าที่เจ้าอาวาส และมาตราที่ ๓๘ นั้น ระบุถึงอำนาจของเจ้าอาวาส ถ้าหากว่าสามารถที่จะทำตามนั้นได้โดยครบถ้วนสมบูรณ์ เราก็จะช่วยกันยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงไปได้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...