โสฬสญาณ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 30 เมษายน 2009.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก ทรงแสดงกาลามสูตรว่า


    อย่าเชื่อเพราะฟังตามกันมา
    อย่าเชื่อเพราะถือสืบๆ กันมา
    อย่าเชื่อเพราะคำเล่าลือ
    อย่าเชื่อเพราะอ้างคัมภีร์และตำรา
    อย่าเชื่อเพราะการใช้ตรรก
    อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน
    อย่าเชื่อเพราะการคิดตามแนวเหตุผล
    อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีเดิม
    อย่าเชื่อเพราะเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้
    และอย่าเชื่อเพราะเห็นว่าผู้สอนเป็นครูของเรา



    ต่อเมื่อได้รู้และเข้าใจด้วยตนเองจึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น


    ปัจจุบันมีสำนักสอนปฏิบัติเป็นจำนวนมาก ยากที่ผู้เริ่มปฏิบัติจะจำแนกแยกแยะได้ว่า คำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงทางพระพุทธศาสนา และคำสอนใดเป็นความคิดเห็นโดยอัตโนมัติของผู้เป็นอาจารย์


    หนทางที่ดีที่สุดก็คือ ผู้ปฏิบัติควรทำใจให้เป็นกลางต่อคำสอนทั้งปวง เปิดใจให้กว้าง พยายามศึกษาเปรียบเทียบว่า คำสอนนั้นตรงตามหลักตัดสินธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้หรือไม่ เช่น ธรรมนั้นเป็นไปเพื่อความหน่ายและความคลายกำหนัดหรือไม่ เป็นไปเพื่อพ้นจากความอยากหรือไม่ และเป็นไปเพื่อความสงบวิเวกหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้อาจศึกษาเปรียบเทียบกับหลักปริยัติธรรม แล้วทดสอบด้วยการปฏิบัติจนเข้าใจความจริง นั่นแหละจึงควรเชื่อถือว่าธรรมนั้นเป็นของจริง


    มีหลักธรรมเรื่องหนึ่งคือเรื่องโสฬสญาณหรือวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น ที่มีการนำมาสั่งสอนอย่างผิดพลาดในปัจจุบัน ความจริงเรื่องญาณ ๑๖ นี้ ไม่ใช่คำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้า ไม่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์รุ่นหลังแต่งขึ้น ปรากฏในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ และวิสุทธิมัคค์


    อย่างไรก็ตาม การลำดับญาณมีความถูกต้อง สอดคล้อง ลงกันได้กับการปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะศึกษากัน แต่จะไม่ศึกษาก็ได้ เพราะหากปฏิบัติธรรมถูกต้อง จิตจะดำเนินไปตามลำดับญาณโดยอัตโนมัติ การที่จิตดำเนินไปตามลำดับญาณนั้น อย่าไปสำคัญผิดว่าจิตจะดำเนินเป็นขั้นๆเหมือนการเรียนหนังสือที่เลื่อนไปปีละชั้น ในความเป็นจริงของการปฏิบัตินั้น เมื่อเราเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้อง คือมีสติ ระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏด้วยความรู้ตัว ไม่หลงส่งจิตไปตามอารมณ์นั้น เมื่อจิตสะสมความรู้เพียงพอแล้ว จิตจะรวมลงเป็นสมาธิ อาจจะรวมเพียงขณะจิตเดียว หรือรวมเป็นอัปปนาสมาธิก็ได้ แล้ววิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น อาจเกิดรวดเดียวตลอดสายบรรลุมรรคผลเลยก็ได้ หรือเกิดแล้วไปหยุดอยู่ในลำดับญาณใดก็ได้ มากน้อยแล้วแต่กำลังปัญญาอันเกิดจากการเจริญสติสัมปชัญญะ


    แต่ถ้าในระหว่างเจริญสติสัมปชัญญะอยู่นั้น จิตเกิดความอ่อนแอเฉื่อยชาลง มีโมหะเข้าแทรก แทนที่จิตจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิ จิตจะกลับพลิกไปสู่มิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัว เป็นการตกภวังค์วูบวาบบ้าง โงกง่วงบ้าง ลืมตัวไปบ้าง แล้วเกิดความรู้ความเห็นต่างๆ ไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อกลับรู้ตัวในภายหลัง ก็สำคัญผิดว่าความรู้ความเห็นนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ทั้งที่เป็นความรู้ของกิเลสทั้งสิ้น ผู้ที่ติดอยู่ตรงนี้จะเชื่อตัวเองอย่างงมงาย อันเป็นอาการของวิปัสสนูปกิเลสสนั่นเอง


    ขอยกตัวอย่างคำสอนเรื่องโสฬสญาณ ซึ่งมีผู้นำหลักปฏิบัติเข้ามาจากพม่า และอาศัยการตีความพระอภิธรรมด้วยการตรึกตรองเทียบเคียงอาการของจิตที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติ แล้วบัญญัติเทียบเคียงเข้ากับลำดับญาณตามตำรา นำออกสั่งสอนแพร่หลาย เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติที่มุ่งตรงต่อมรรคผลนิพพาน การชี้ประเด็นความผิดพลาดนี้ ไม่ได้มุ่งติเตียนตัวบุคคล แต่เป็นการวิจารณ์เพื่อความสะกิดใจของผู้สนใจปฏิบัติ โดยจะเทียบเคียงคำสอนที่ผิดพลาดนั้น กับหลักปริยัติธรรมและลำดับญาณที่พบเห็นมาจากการปฏิบัติจริง ผู้อ่านไม่ควรเชื่อว่าการเทียบเคียงนี้ถูกหรือผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติรู้เห็นด้วยตนเอง จึงจะรู้ว่าคำสอนเรื่องโสฬสญาณที่แพร่หลายนั้นผิด หรือคำวิจารณ์นี้ผิด หากปักใจเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อนแล้ว ย่อมไม่ใช่ชาวพุทธที่ดีจริง


    การเปรียบเทียบลำดับญาณ


    ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    เห็นว่าพองกับยุบเป็นคนละอัน บางคนมีนิมิตเห็นตัวเองอยู่ข้างหน้า หรือข้างหลัง เป็นการเห็นด้วยอำนาจของญาณเครื่องรู้อันวิเศษที่เราซักล้างด้วย อินทรีย์สังวรศีล ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์สะอาดของเรา ตัวที่เห็นอยู่ข้างหน้าข้างหลังนั้นคือรูป ใจที่รู้ว่านั่นคือเราคือนาม


    ปริยัติธรรม


    (ขอใช้ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของพระเทพเวที (ปัจจุบัน พระธรรมปิฎก) ประยุทธ์ ปยุตโต เป็นหลัก เนื่องจากท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตเอกทางปริยัติธรรมในยุคปัจจุบัน ซึ่งวงการศึกษายกย่องว่าเป็นเอกในยุครัตนโกสินทร์)


    ระบุว่านามรูปปริจเฉทญาณคือญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม และอะไรเป็นนามธรรม


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ผู้แรกปฏิบัติจะต้องมีเครื่องระลึกของสติ ซึ่งจะเป็นรูปหรือนามก็ได้ เช่น กำหนดพองยุบ (รูป) กำหนดลมหายใจ (รูป) กำหนดอิริยาบถยืน-เดิน-นั่ง-นอน (รูป) กำหนดสุข-ทุกข์ (นาม) กำหนดกุศล-อกุศล (นาม) เป็นต้น ผู้ปฏิบัติจะต้องจำแนกให้ได้ว่า รูปก็ดี นามก็ดีที่กำลังระลึกรู้ในปัจจุบันนั้น เป็นเพียงอารมณ์ที่ถูกจิตรู้ ตัวจิตผู้รู้อยู่ต่างหาก หากยังแยกจิตกับอารมณ์ปรมัตถ์ หรือผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ ยังไม่จัดเป็นวิปัสสนาญาณ แต่เป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้น


    ผลอันเกิดจากการทำสมถะคือนิมิต เช่น เห็นตัวเองนั่งอยู่ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง มันเป็นนิมิตทั้งสิ้น ซึ่งสามารถรู้เห็นได้เพราะกำลังสมถะ ไม่ใช่เพราะอำนาจของญาณเครื่องรู้อันวิเศษที่เราซักล้างด้วยอินทรีย์สังวรศีล หรือด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์สะอาดของเราแต่อย่างใด เพียงจิตสงบเล็กน้อยก็เห็นได้แล้ว แต่บางคนแม้จะสงบเท่าใดก็ไม่เห็น ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด


    ๒. ปัจจยปริคคหญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    รู้ปัจจัยของรูปนาม พอมันสุดพองมันก็ต้องยุบ พอมันสุดยุบมันก็ต้องพอง รู้เหตุปัจจัยของรูปนามว่า หน้าที่ของเขาทำงานตามหน้าที่ ตาก็เห็นหนอ หูก็ได้ยินหนอ ใจที่รู้รูปรู้เสียงเป็นนาม รู้ปัจจัยว่าเกิดดับ รู้ว่าสังขารปรุงแต่งจิต ต่อมาจิตสงบมากขึ้น เริ่มเป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ พองยุบจึงหายไปก็ให้กำหนดหายหนอ


    ปริยัติธรรม


    ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของรูปนาม คือรู้ว่ารูปนามทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนว ปฏิจจสมุปบาทก็ดี ตามแนวกฎแห่งกรรมก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี


    ความรู้จากการปฏิบัติ



    การรู้ว่าสุดยุบแล้วพอง สุดพองแล้วยุบ ไม่ใช่การรู้ของปัจจยปริคคหญาณ แต่เป็นการรู้ว่ายุบก็ไม่เที่ยง พองก็ไม่เที่ยง ส่วนที่ว่าต่อมาจิตเป็นสมาธิพองยุบก็หายไปให้มากำหนดว่าหายหนอนั้น จิตจะเป็นสมาธิจริงหรือไม่ ยังไม่แน่ เพราะพองยุบอาจหายไปเพราะขาดสติก็ได้ ไม่ใช่หายเพราะสมาธิ นอกจากนี้เรื่องของสมาธิกับเรื่องของวิปัสสนาญาณก็เป็นคนละส่วนไม่ควรนำมาอธิบายปะปนกัน ปัจจยปริคคหญาณจริงๆ นั้น คือความหยั่งรู้ของจิตที่เห็นว่า เหตุปัจจัยของรูปนามคือ วิญญาณ (ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างแจ้งชัดว่า "วิญญาณ ปัจจยา นามรูปัง" คือวิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป


    กล่าวคือเมื่อเราเจริญสติสัมปชัญญะ โดยมีสติระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่เป็นรูปหรือนามก็ตาม เราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วรูปนามปรากฏขึ้นได้เป็นคราวๆ ก็เพราะจิตส่งออกไปรู้มันเข้า โดยวิญญาณหยั่งเข้าที่รูป รูปก็ปรากฏ วิญญาณหยั่งเข้าที่นาม นามก็ปรากฏ หากวิญญาณไม่หยั่งลง สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏมาสู่ภูมิความรับรู้ของจิต เช่น ในขณะที่อ่านหนังสืออยู่นั้น เราเห็นตัวหนังสือ สลับกับการรู้ความหมายของมัน เพราะเรามีวิญญาณทางตาและวิญญาณทางใจ แต่ในขณะนั้นเราไม่ได้ยินเสียงเพลงจากวิทยุ เพราะเราไม่มีวิญญาณทางหู เสียงจึงไม่ปรากฏทั้งๆ ที่มีเสียงอยู่ เราจะรู้ความจริงว่า รูปนามเป็นของแยกต่างหากจากจิตชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเห็นชัดว่า รูปนามปรากฏได้เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย


    นอกจากนี้ยังจะเห็นอีกว่า รูปเป็นปัจจัยของนามก็ได้ นามเป็นปัจจัยของรูปก็ได้ รูปนามต่างก็อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ได้


    ๓. สัมมสนญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    สำนึกรู้บาปบุญคุณโทษ จิตใจเยือกเย็น เสียงนิ่ม เสียงอ่อนโยนกว่าเดิม และนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แล้วต่อด้วยปิติทั้ง ๕ เช่น ขนลุก ตัวโยก ตัวเบา ฯลฯ


    ปริยัติธรรม


    ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    การรู้สำนึกบาปบุญคุณโทษเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่เรื่องของวิปัสสนาญาณซึ่งเป็นเรื่องที่มุ่งเรียนรู้ธรรมชาติทั้งปวงตามความเป็นจริงว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ตามธรรมดาคนที่จิตสงบลง บรรดาจิตใต้สำนึกหรือวิบากกรรมที่เก็บไว้ในภวังคจิตมักจะโผล่ขึ้นมา เช่น เคยจับลิงกดน้ำก็จะระลึกได้ถึงบาปที่ทำ เคยเลวร้ายต่อพ่อแม่ก็จะระลึกได้ ที่ว่าจิตใจเยือกเย็น เสียงนิ่ม เสียงอ่อนโยนนั้น เป็นอาการของจิตที่ติดอารมณ์สงบทั้งสิ้น บรรดาท่านไม่ได้ติดในอารมณ์สมถะ ท่านเคยพูดอย่างไรท่านก็พูดอย่างนั้น เพียงแต่จิตของท่านประกอบด้วยเมตตา ไม่มีอาการเสียงอ่อนเสียงนิ่มเป็นคราวๆ แต่อย่างใด


    และยิ่งสอนว่าเกิดปิตินั้น ยิ่งเป็นการฟ้องให้เห็นว่าสิ่งที่เข้าใจว่าทำญาณนั้น จริงๆ คือการทำสมถะเท่านั้นเอง สัมมสนญาณ เป็นสภาวะต่อเนื่องจากปัจจยปริคคหญาณ คือเมื่อเราเห็นว่านามรูปมีวิญญาณ (ความรับรู้) เป็นปัจจัยให้มันปรากฏและนามรูปต่างก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากขึ้น จิตจะเห็นความจริงชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยสัมมสนญาณว่า ทั้งรูปและนามล้วนแต่ปรากฏเป็นคราวๆ ถ้าจิตไม่ไปรู้มันเข้า มันก็ไม่ปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏนั้นมันตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ คือมันไม่เที่ยง (อนิจจัง) และเป็นของที่ทนอยู่ได้ชั่วขณะแล้วก็ดับหรือเปลี่ยนสภาพไป (ทุกขัง) ทั้งนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน และสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้นั้น เป็นของภายนอกที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราหรือของเรา(อนัตตา) ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ ไม่มีอาการของสมถะเข้ามาปะปนเลย


    ๔. อุทยัพพยญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    เห็นการเกิดดับของรูปนาม เช่น กำหนดยุบหนอพองหนออยู่ จิตสงบเงียบ งีบผงะไปข้างหลัง ใช่แล้วได้ญาณที่ ๔ หรือเดินจงกรมอยู่มีอาการเหมือนตกวูบ อันนี้ชื่อว่าเห็นการเกิดดับของรูปนามแล้ว


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือพิจารณาความเกิดขึ้นและดับไปแห่งขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งหมด ในตำราอื่นๆ กล่าวถึงอุทยัพพยญาณว่ามี ๒ ระดับคือ


    (๑) ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณอย่างอ่อน และหากดำเนินผิดพลาดจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส และ
    (๒) พลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณเห็นความเกิดดับที่มีความเข้มแข็ง พ้นจากวิปัสสนูปกิเลส


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    อาการผงะ หรือตกวูบ เป็นอาการของจิตที่ขาดสติอย่างหนึ่ง หรือเป็นอาการที่จิตรวมเพราะอำนาจสมถะแต่ขาดความชำนาญอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่มีปัญญา แต่มันเกิดจากการที่สติอ่อนเกินไป ในทางปฏิบัติจะสอดคล้องกับปริยัติธรรม คือญาณนี้จำแนกเป็น ๒ ช่วงตอน ได้แก่


    ตรุณอุทยัพพยญาณ ญาณช่วงนี้เป็นอุทยัพพยญาณขั้นเริ่มต้น ได้แก่ การมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว และมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายและธรรมารมณ์(ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ) เช่น รู้รูปนั่ง รูปเดิน รูปยุบ รูปพอง และรู้ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ตามสัญญาอารมณ์ เช่น ความสุขความทุกข์ กุศลอกุศล เป็นต้น ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าอารมณ์ที่ถูกรู้ทั้งปวงนั้นเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ในขั้นนี้หากสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอ่อนลง จิตจะไหลตามสติไปเกาะอยู่กับอารมณ์ที่จิตรู้ เช่น กำลังเดินจงกรม จิตก็ไปอยู่ที่เท้า กำลังเคลื่อนไหวมือ จิตก็ไปอยู่ที่มือ กำลังระลึกรู้จิต จิตก็ไปเพ่งอยู่กับความนิ่งว่าง ฯลฯ สภาพนี้คือจิตพลิกจากการทำวิปัสสนาซึ่งต้องประกอบด้วยความรู้ตัวไม่หลงตามอารมณ์ ไปเป็นสมถะคือการที่จิตหลงตามสติไปเกาะอยู่กับอารมณ์อันเดียว ในขั้นนี้หากสิ่งใดปรากฏขึ้น เช่น เกิดแสงสว่าง เกิดปัญญาแตกฉาน เกิดญาณพิเศษต่างๆ เกิดการตั้งสติแข็งกล้าจนอึดอัด ฯลฯ ผู้ปฏิบัติจะเกิดสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งที่เกิดนั้นเป็นของดีของวิเศษ เกิดมานะอัตตารุนแรงนั่นคือวิปัสสนูปกิเลส


    พลวอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่มีกำลังเข้มแข็ง คือแทนที่ผู้ปฏิบัติจะหลงดูแต่อารมณ์หยาบๆ เช่น รูปนั่ง รูปเดิน หรือความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ ผู้ปฏิบัติที่มีกำลังของสัมปชัญญะและสติปัญญามากขึ้น สามารถดูเข้าไปถึงปฏิกิริยาของจิตที่เกิดขึ้นเมื่อจิตไปรู้อารมณ์ต่างๆ เช่น ในขณะที่เดินจงกรมเกิดความรู้สึกตัวเบา แทนที่สติจะรู้แค่ว่าเดินและตัวเบา สติกลับเห็นลึกซึ้งต่อไปว่า ในขณะนั้นจิตมีความเบิกบาน เพลิดเพลินยินดีมีราคะที่ตัวเบาสบาย และมีตัณหาอยากให้ตัวเบาอยู่อย่างนั้นนานๆ หรือรู้อารมณ์อยู่ จิตเกิดอึดอัด สติก็รู้ว่าจิตไม่ชอบใจหรือมีโทสะต่อความอึดอัด และจิตมีตัณหาคืออยากให้หายจากความอึดอัด หรือในขณะนั้นความจำ (สัญญา) เกี่ยวกับลูกเกิดขึ้น แล้วจิตคิดกลุ้มใจไปต่างๆ นานาๆ สติปัญญาก็กล้าแข็งพอที่จะเห็นว่า จิตส่งออกไปเกาะเกี่ยวพัวพันเรื่องลูก จิตเป็นทุกข์ไม่สบาย เห็นโทสะที่เกิดขึ้น และเห็นความอยากจะให้ความทุกข์ดับไป หรือขณะนั้นนั่งดูจิตเห็นว่างๆ ประเดี๋ยวความคิดผุดขึ้นไม่ว่างเสียแล้ว เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ และเห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นบุญบ้าง เป็นกลางๆบ้าง สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปไม่ขาดสาย นี่เป็นอุทยัพพยญาณที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกชั้นหนึ่ง คือเปลี่ยนจากการเห็นสิ่งที่มากระทบ เป็นการเห็นปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบนั้น และเป็นขั้นที่วิปัสสนูปกิเลสแผ้วพานไม่ได้ เพราะจิตฉลาดรู้เท่าทันกลมายาของกิเลส เนื่องจากอ่านจิตใจของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


    ๕. ภังคญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    เห็นความเกิดดับถี่เข้า บางทีก็วืบบ่อย บางทีได้ยินยังไม่ทันจะหนอก็วืบที่หู บางทียก(มือ)ยังไม่ทันจะหนอก็แวบที่มือ คือการขาดความรู้สึกขณะหนึ่ง บางทีร่างกายหายไปเป็นท่อนๆ เดี๋ยวมือหาย เดี๋ยวแขนหาย เดี๋ยวก็หายหมดทั้งตัว


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันตามเห็นความสลาย คือเมื่อเห็นความเกิดดับแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    อาการวืบก็ดี กายหายไปทั้งหมดหรือบางส่วนก็ดี เป็นอาการของสมถะ ยิ่งยอมรับว่าเป็นการขาดความรู้สึกชั่วขณะ ยิ่งเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับการเจริญสติและสัมปชัญญะซึ่งหมายถึงความรู้ตัวไม่เผลอ เมื่อเห็นอารมณ์เกิดดับบ่อยเข้า และเห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์บ่อยเข้า ผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะเข้มแข็งจะพบว่า เมื่อจิตเกิดปฏิกิริยาใดๆ ต่ออารมณ์เพียงแวบเดียว พอรู้ทัน ปฏิกิริยานั้นก็จะดับไปทันที เช่น กำลังรู้ตัวอยู่ ได้ยินเสียงลูกร้องไห้เสียงดัง จิตมีปฏิกิริยาต่อเสียงคือเกิดความโกรธผ่านแวบเข้ามา สติรู้ทันความโกรธที่กำลังปรากฏ จิตไม่เผลอไปตามความโกรธ ความโกรธจะดับวับไปต่อหน้าต่อตาทันที แม้อารมณ์อื่นเกิดแล้วพอรู้ก็ดับเช่นกัน จิต จะกลับเข้าสู่สภาวะดั้งเดิมคือเป็นกลางและรู้ตัว จะขาดความรู้ตัวไม่ได้เลย


    สภาวะที่เห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์ขาดหายไปต่อหน้าต่อตานั้นคือภังคญาณ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อารมณ์ภายนอกที่มากระทบนั้น มันเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยภายนอก เช่น ลูกร้องไห้ เราก็ได้ยินเสียงร้องไห้ จะห้ามไม่ให้ได้ยินไม่ได้ สิ่งที่เราแก้ไขได้ก็คือ เมื่อเราได้ยินเสียงนั้นแล้ว หากจิตไม่เป็นกลาง เช่น เกิดโกรธหรือเกิดห่วงใย สติจะรู้ทันอย่างว่องไว แล้วปฏิกิริยาของจิต เช่น ความโกรธหรือความห่วงใยจะดับไป จิตกลับเข้าสู่ความเป็นกลางดังเดิม


    ๖. ภยญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    แปลว่า กลัวภัยในวัฏสงสาร โยคีจะเกิดความหวาดกลัว กลัวอะไรบอกไม่ถูก บางทีเหมือนคนมานั่งแอบข้าง จะลืมตาก็ไม่กล้าลืม อยากลืมก็อยากลืม หวาดๆ ว่าผีหลอก บางทีคนมาเดินตามหลังเหลียวไปก็ไม่มี บางทีกลัวผี มันปรุงแต่งจิตให้กลัวเองโดยอำนาจของญาณ บางทีนิมิตเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เห็นเด็ก บางทีเอ๊กซเรย์ตัวเองเห็นโครงกระดูก น่ากลัวเหลือเกิน บางทีนิมิตให้เกิดปัญญา เช่น นิมิตอสุภะตัวขึ้นอืด ตัวบวม นิ้วมือเน่า ลืมตาขึ้นดูไม่มีอะไร


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือเมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ที่เกิดความกลัวต่างๆ นั้น เพราะจิตไปหลงตามอารมณ์ปรุงแต่งของจิตที่รักตัวกลัวตายด้วยความยึดมั่นถือมั่น แล้วไม่มีปัญญารู้เท่าทันจิตตนเอง อย่าว่าแต่ผู้ปฏิบัติจะกลัวเป็นเลย แม้แต่มดหรือยุงมันก็กลัวเป็น ทั้งที่ไม่มีญาณทัศนะใดๆ ส่วนการเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ล้วนแต่เป็นนิมิต อันเป็นเครื่องแสดงว่าที่ปฏิบัติอยู่นั้นคือสมถะทั้งสิ้น


    ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพบว่า ไม่ว่าอารมณ์ชนิดใดเกิดขึ้น จะเป็นอารมณ์ภายนอก เช่น รูปและเสียง หรืออารมณ์ภายใน เช่น ความสุขและความทุกข์ ความดีและความชั่ว ความฟุ้งซ่านและความสงบ อันเป็นปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบก็ตาม ก็ล้วนแต่จะต้องดับไปทั้งสิ้น แม้กระทั่งอารมณ์ที่ละเอียดประณีต เช่น ฌานสมาบัติ แม้กระทั่งความว่างของจิต ก็ยังเป็นของไม่เที่ยง อันแสดงว่าภพชาติทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง พึ่งพาอาศัยถาวรไม่ได้ (ภพก็คือสภาพที่จิตเกาะเกี่ยวอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ถ้าเกาะอารมณ์ละเอียดก็เป็นภพละเอียด เช่น เทวดาและพรหม ถ้าเกาะภพหยาบก็เป็นสัตว์ในอบายภูมิ มีความทุกข์ความเร่าร้อนมาก) ผู้ปฏิบัติไม่ได้เกิดความกลัวตายเพราะความรักตัวกลัวตาย แต่กลัวเกิดเพราะเห็นว่าไม่ว่าเกิดเป็นอะไรก็ต้องทนทุกข์เวียนว่ายไม่รู้จบสิ้น


    ๗. อาทีนวญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม ญาณที่ ๖, ๗, ๘ และ ๙ เหมือนกัน เป็นอันเดียวกันโดยจะมีอาการหวาดๆกลัวๆ ญาณที่ ๗ ไม่เคยเจ็บก็เจ็บ ไม่เคยปวดก็ปวด ทุกข์ทรมานมาก เพราะโรคภัยไข้เจ็บเริ่มถูกทำลายจึงออกอาการ เป็นการใช้หนี้ตามกฏแห่งกรรม


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือเมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่องจะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ญาณเหล่านี้ไม่ใช่ญาณขี้กลัว และไม่ใช่ญาณใช้หนี้กรรม เพราะกรรมนั้นแม้ไม่มีญาณก็ต้องใช้หนี้อยู่แล้วตามธรรมดา แต่เป็นปัญญาของจิตที่เห็นว่าภพทั้งปวงเป็นที่พึ่งอาศัยไม่ได้ ภพทั้งปวงล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ระคนอยู่เสมอ ไม่ว่าภพหยาบหรือละเอียด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกข์ สิ่งที่ดับไปก็คือทุกข์ นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ มันเป็นปัญญาเห็นความจริงของภพทั้งปวง หรืออารมณ์ทั้งปวงนั่นเอง


    ๘. นิพพิทาญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    ญาณนี้จะเกิดอาการเบื่อเอามากๆ อยากกลับบ้านไม่อยากภาวนาต่อไป


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่ายคือเมื่อพิจารณาเห็นสังขาร(ความปรุงแต่งต่างๆ) ว่าเป็นโทษแล้ว ย่อมเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดใจ


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ความเบื่อหรืออยากกลับบ้านเป็นอารมณ์ธรรมดาไม่ใช่ญาณใดๆ ทั้งสิ้นเพราะจิตติดอยู่ในกามสุข เมื่อจากบ้านมาปฏิบัติ และต้องปฏิบัติอย่างเหน็ดเหนื่อยก็อยากกลับบ้านเป็นธรรมดา แม้แต่นกกาหากินเหนื่อยอ่อนแล้ว ก็ยังอยากกลับรัง ทั้งที่มันไม่เคยมีญาณทัศนะใดๆ เลย นิพพิทาญาณไม่ใช่อารมณ์เบื่อแบบโลกๆ แต่มันเป็นสภาพที่จิตหมดความเพลิดเพลินมัวเมาในภพหรืออารมณ์ต่างๆ เพราะเห็นจริงแล้วว่าภพทั้งปวงเจือระคนด้วยทุกข์โทษ ในขณะที่คนทั่วไปเพลิดเพลินมัวเมาในภพ คือจิตมีเยื่อใยยึดเกาะรุนแรงในอารมณ์ทั้งปวงที่จรมา


    ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    เป็นญาณอยากหนี อยากหลุด อยากพ้น จะมีความรู้สึกอึดอัดหรือแน่น บางทีก็มีแมลงหรือมดตัวโตๆมาไต่มาเกาะ ญาณที่ ๒ - ๓ จะเป็นแมลงตัวเล็ก พอถึงญาณที่ ๙ ตัวโตแล้ว เช่น รู้สึกว่ามดง่ามหรือผึ้งเข้าไปในผ้าซิ่น กำลังนอนมืดๆ รู้สึกว่าแมลงสาปวิ่งเข้ามาไต่


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันคำนึงด้วยความใคร่จะพ้นไปเสีย คือเมื่อหน่ายสังขารทั้งหลาย แล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ความอึดอัดแน่นเกิดจากการที่ไปพยายามบังคับจิต ส่วนความรู้สึกว่าสัตว์มาไต่ตอมเป็นอาการของนิมิตเช่นกัน รวมความแล้วจนถึงญาณที่ ๙ ก็ยังเป็นเรื่องของนิมิตอยู่นั่นเอง เพราะสิ่งที่ปฏิบัติบังคับจิตใจตนเองนั้น คือการทำสมถะเบื้องต้นทั้งนั้น ที่จริงญาณนี้เป็นปัญญาที่เมื่อหมดความเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆแล้ว จิตจะมีปฏิกิริยาอยากจะข้ามพ้นภพชาติทั้งปวง คืออยากพ้นจากอารมณ์อย่างสิ้นเชิง จิตจะมีความเพียรพยายามค้นคว้าพิจารณา เพื่อพ้นเด็ดขาดจากอารมณ์ แต่ก็สามารถพ้นได้ชั่วคราว พออารมณ์หนึ่งแก้ไขได้ ก็มีอารมณ์ใหม่มาให้พิจารณาแก้ไขอีก เป็นช่วงที่จิตหมุนตัวติ้วๆ เพื่อหาทางออกจากภพ


    ๑๐. ปฏิสังขาญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    ญาณนี้มีความเข้มแข็ง ขยัน อดทน ตายเป็นตาย สู้ยิบตาเลยตั้งใจนั่งสมาธิ เดินจงกรม ความปิติต่างๆก็แก่กล้าขึ้น เดินเป็นชั่วโมงๆ ตัวก็เบา ญาณนี้จะรู้สึกเสียดายเวลาว่า น่าจะพบทางปฏิบัติตั้งนานแล้ว มีความเข้มแข็งสุขกายสุขใจ กายไม่เจ็บปวด จิตไม่เศร้าหมอง


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือเมื่อต้องการพ้นไปเสีย จึงกลับมายกเอาสังขารทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    การที่จิตเข้มแข็งเดินจงกรมได้นานตัวเบา ก็เพราะปิติ อันเป็นผลของสมถะอีกเช่นกัน ในความเป็นจริง เมื่อจิตค้นคว้าพิจารณาที่จะออกจากภพหรือพ้นจากอารมณ์ปรุงแต่งด้วยอุบายต่างๆ มากมาย แต่ไม่สามารถพ้นไปได้ จิตจะค่อยๆ สังเกตเห็นว่า เราไม่สามารถดับอารมณ์ทั้งปวงได้ ตราบใดที่มันมีเหตุ มันก็ต้องเกิด เมื่อหมดเหตุมันก็ดับ อารมณ์ทั้งปวงหมุนเวียนเกิดดับไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา นั่นคือการเริ่มเห็นว่า อารมณ์ต่างๆ ไม่เที่ยง เป็นของทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชา ซึ่งก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง


    ๑๑. สังขารุเบกขาญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    ญาณนี้มีอะไรมากระทบพอเห็นหนอก็ดับ กระทบแล้วดับทันทีเป็นกิริยาของพระอรหันต์ วางเฉยต่อรูปนาม คนหนึ่งตาเหล่และหูหนวก ก็หาย ปัญญาอ่อนก็หายสามารถแต่งกลอนสดุดีแม่อย่างไพเราะ


    ปริยัติธรรม



    ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือเมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่ามีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกาะเกี่ยวกับสังขารเสียได้


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    เรื่องหายหูหนวก ตาเหล่ หรือปัญญาอ่อนนั้น ก็พอเป็นได้ด้วยอำนาจของบุญที่อุตส่าห์ทำสมถภาวนา แต่ไม่ใช่เรื่องของสังขารุเบกขาญาณแต่อย่างใด เมื่อจิตพิจารณาเห็นว่าอารมณ์เป็นไตรลักษณ์ จิตจะรู้ความเกิดดับของอารมณ์ด้วยความเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ แต่ในขั้นนี้คงเห็นว่าอารมณ์เป็นไตรลักษณ์เท่านั้น แต่ตัวจิตเองยังรู้สึกเป็นตัวตนของตน ไม่เห็นเป็นไตรลักษณ์ไปด้วย


    ญาณนี้เป็นญาณที่สำคัญมาก หากจิตของผู้ปฏิบัติมีสัมปชัญญะคือรู้ตัว มีสัมมาสมาธิคือเป็นกลางและตั้งมั่น ไม่เผลอเลื่อนไหลไปตามอารมณ์ มีสติระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่กำลังปรากฏตามที่มันเป็นจริง จิตจะเห็นอารมณ์ทั้งปวงผ่านมาแล้วผ่านไป เหมือนนั่งอยู่บนฝั่งน้ำเห็นสิ่งของลอยตามน้ำมา เป็นของดีของสวย เช่น ดอกไม้บ้าง ของสกปรก เช่น สุนัขเน่าบ้าง แต่จิตก็เป็นกลางระหว่างทั้ง ๒ สิ่งนั้น ไม่ยินดีกับดอกไม้ ไม่ยินร้ายกับสุนัขเน่า จิตรู้ว่าดอกไม้ลอยมาแล้วก็ต้องลอยไป สุนัขเน่าลอยมาแล้วก็ต้องลอยไป ไม่มีความอยากเจือปนว่า อยากให้ดอกไม้ลอยมาอีก หรือไม่อยากให้ดอกไม้ลอยตามน้ำไป แม้ความไม่อยากให้สุนัขลอยมาอีก หรือลอยมาแล้วอยากให้รีบลอยพ้นๆ ไป ก็ไม่มีเช่นกัน


    นี่คือสภาวะของการเจริญมหาสติปัฏฐานที่แท้จริง มันเกิดขึ้นโดยไม่ต้องข่มบังคับจิตให้เป็นกลาง ญาณนี้เป็นทางแยก ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิจะก้าวล่วงเข้าสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนผู้ที่ปรารถนาสาวกภูมิ จิตจะดำเนินพัฒนาต่อไป


    ๑๒. อนุโลมญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    อนุโลมญาณมีมาแล้วตั้งแต่ญาณที่ ๓ อย่างแก่ เป็นญาณพี่เลี้ยงมาเรื่อย คอยปลอบใจสอนใจให้อดทนต่อสู้กับความยากลำบากในการปฏิบัติ จะตั้งอกตั้งใจเรียกรวมพล คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เรียกว่ามรรคสมังคีอยู่ตรงนี้


    ปริยัติธรรม


    ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์ คือการวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการรู้อริยสัจจ์ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    การปลุกปลอบใจหรือสอนใจตนเองเป็นความคิดหรือสังขารฝ่ายดีเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับอนุโลมญาณ และมรรคสมังคีก็ไม่ได้เกิดที่ตรงนี้ อนุโลมญาณนั้นเป็นสภาวะสืบต่อจากสังขารุเบกขาญาณ คือเมื่อจิตเป็นกลางรู้สังขารหรืออารมณ์ที่เกิดดับต่อเนื่องเฉพาะหน้าตามความเป็นจริงแล้ว จิตจะมาถึงอนุโลมญาณ โดย จิตจะรวมลงสู่ภวังค์ เมื่อจิตไหวตัวขึ้นรู้อารมณ์ทางใจแล้ว จะเกิดอนุโลมญาณสืบเนื่องกันเป็นช่วงสั้นๆ คือหมดความดิ้นรนที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานเพื่อให้พ้นจากอารมณ์ทั้งปวง สิ่งใดจะเกิดมันก็เกิด สิ่งใดจะดับมันก็ดับ ความอยากพ้นจากความเกิดดับไม่มีเลย มีแต่การอนุโลมยอมรับสภาพว่า สิ่งทั้งหลายเมื่อมีเหตุมันก็เกิด เมื่อหมดเหตุมันก็ดับ เป็นสภาพที่จิตคล้อยตามต่ออริยสัจจ์นั่นเอง จิตตรงนี้ขจัดโมหะได้ แต่ยังไม่เห็นพระนิพพาน


    ๑๓. โคตรภูญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    หากบารมีแก่กล้าก็วืบเดียวอนุโลมญาณ แล้วโคตรภูญาณมัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เกิดสืบต่อกัน


    ปริยัติธรรม


    ญาณครอบโคตรคือความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู้ภาวะอริยบุคคคล


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ถึงขั้นนี้ทั้งคำสอนที่เผยแพร่กัน และคำสอนทางปริยัติธรรมเข้าไม่ถึงเสียแล้ว จึงไม่สามารถจำแนกอธิบายลักษณาการของโคตรภูญาณได้ แล้วเอาคำว่าวืบมาใช้ ความจริงไม่มีคำว่าวืบ หรือวูบ เพราะขณะนั้นสติสัมปชัญญะจะแจ่มใสตลอด เพียงแต่จิตจะดำเนินวิปัสสนาอยู่ในฌานเท่านั้นเอง


    โคตรภูญาณเป็นญาณหยั่งรู้ว่า ขณะนั้นกระแสจิตที่ส่งออกนอกไประลึกรู้อารมณ์จะปล่อยวางอารมณ์แล้วถอยย้อนคืนเข้าหาตัวจิตผู้รู้ มันไม่ได้เกาะเกี่ยวกับอารมณ์จึงไม่อาจจัดเป็นโลกียญาณ และไม่ได้เข้าถึงธาตุรู้อันบริสุทธิ์แท้จริง จึงไม่ใช่โลกุตรญาณ แต่เป็นรอยต่อตรงกลางนั่นเอง


    ๑๔. มัคคญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    อธิบายไม่ได้แล้ว


    ปริยัติธรรม


    ญาณหยั่งรู้ในอริยมัคค์ คือความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    เมื่อสติซึ่งเคยระลึกรู้อารมณ์ย้อนตามโคตรภูญาณเข้ามาระลึกรู้จิตผู้รู้ ซึ่งตัวจิตผู้รู้เองก็มีสัมปชัญญะอยู่ก่อนแล้ว ทั้งสติ ทั้งสัมปชัญญะ ทั้งกุศลธรรมฝ่ายการตรัสรู้ทั้งปวงที่รวมเรียกว่าโพธิปักขิยธรรม ประชุมรวมลงที่จิตผู้รู้ดวงเดียว ในขณะนั้นมโนวิญญาณที่ห่อหุ้มธาตุรู้ถูกกำลังของมรรคหรือมัคคสมังคีแหวกออก ธาตุรู้ซึ่งถูกห่อหุ้มมานับกัปป์กัลป์ไม่ถ้วนก็ปรากฏตัวขึ้นมา สภาพที่มัคคสมังคีแหวกมโนวิญญาณอันนั้นเกิดในขณะจิตเดียว บางคนตามรู้ได้ บางคนตามรู้ไม่ทันเพราะปัญญาอบรมมาได้ไม่เท่ากัน


    ๑๕. ผลญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    อธิบายไม่ได้แล้ว


    ปริยัติธรรม


    ญาณในอริยผล คือความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    เมื่อมโนวิญญาณถูกแหวกออกแล้ว ธรรมชาติอันบริสุทธิ์แท้จริงก็ปรากฏขึ้น มันไม่มีรูปร่างตัวตนใดๆทั้งสิ้น ปรากฏเป็นแสงสว่าง ว่างบริสุทธิ์ เป็นตัวของตัวเอง จิตในขณะนั้นมีอาการเบิกบานร่าเริงโดยปราศจากอารมณ์ปรุงแต่ง


    ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ


    คำสอนที่เผยแพร่


    บางคนอ่อนก็พูดไม่เป็น บางคนญาณแก่ก็พูดได้ประกาศร้อง ตะโกนว่าเรารู้แล้ว มรรคนี้ถูกต้องแล้ว พิจารณากิเลสที่ละได้ และกิเลสที่ยังเหลืออยู่


    ปริยัติธรรม


    ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือสำรวจรู้มรรคผลและกิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน


    ความรู้จากการปฏิบัติ


    ในขณะที่บังเกิดมรรคผลนั้น ปราศจากความคิดมีแต่ความรู้ เมื่อมัคคญาณยังไม่ถึงขั้นอรหัตมัคค์ ย่อมมีกำลังไม่มากพอที่จะส่งผลให้จิตหลุดพ้นได้ถาวร แต่จะปรากฏเพียงเล็กน้อย ๒-๓ ขณะก็จะถูกมโนวิญญาณกลับเข้ามาห่อหุ้มปกคลุมอีก เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติจะคิดนึกได้และรู้ชัดว่า อ้อ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไป พระพุทธเจ้ามีจริง ทรงสอนธรรมเป็นของจริง ปฏิบัติแล้วหลุดพ้นได้จริง ผู้ปฏิบัติสามารถหลุดพ้นเป็นอริยสาวกตามพระองค์ได้จริง จะรู้ชัดว่าความเป็นตัวตนไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะจะเห็นชัดว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ความเป็นตัวเราหรือสักกายทิฏฐิเกิดจากสังขารหรือความคิดเข้ามาปรุงแต่งหลอกลวงจิตเท่านั้น จะหมดความลังเลสงสัยในพระศาสนาสิ้นเชิง ไม่มีทางปฏิบัตินอกลู่นอกทางใดๆ ได้อีก กล่าวโดยย่อ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส เป็นอันหมดไปเด็ดขาด กิเลสในจิตใจเหลือมากน้อยเพียงใดก็รู้ชัดในใจตนเอง


    ความเข้าใจผิดที่ต่อเนื่องจากเรื่องโสฬสญาณ


    ในสำนักที่เผยแพร่คำสอนเกี่ยวกับญาณ ๑๖ ที่ว่าผิดพลาดนั้น มีความสำคัญผิดอย่างร้ายแรงว่าญาณที่รู้นิพพานเป็นสภาพที่หมดความรู้สึก ผู้ปฏิบัติจะนั่งตัวแข็งไปชั่วขณะ แม้หลังบรรลุมรรคผลแล้ว ต่อมาเมื่อเข้าผลสมาบัติ ซึ่งเป็นการระลึกรู้อารมณ์นิพพานก็จะมีอาการดังนี้ "เมื่อเข้าสมาบัติ ตัวแข็งแจ้งชัด ประสาทหยุดงานหมดความรู้สึก คิดนึกทุกสถาน อารมณ์นิพพาน บรมสุขสันต์"


    แท้จริงสภาวะที่ปราศจากความรู้สึกนึกคิดนั้น อาจเป็นสภาวะของ อสัญญีพรหม หรือพรหมลูกฟัก คือมีแต่รูปกายนั่งตัวแข็งเป็นก้อนหินอยู่ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องกับการสำเร็จมรรคผลนิพพานแต่ประการใดเลย


    บทสรุปเกี่ยวกับโสฬสญาณ


    โสฬสญาณเป็นพัฒนาการทางปัญญาของจิตที่เจริญสติและ สัมปชัญญะอย่างถูกต้อง มีความต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยเริ่มตั้งแต่


    การรู้จักจำแนกรูปและนาม อันเป็นสิ่งที่ถูกรู้หรือเป็นอารมณ์เครื่องระลึกของสติออกจากจิตผู้รู้ (ญาณ ๑)


    รู้ว่ารูปหรือนามปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อจิตไปรู้มันเข้า (ญาณ ๒)


    รู้ว่ารูปนามทั้งปวงนั้นปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อถูกรู้ และรูปนามทั้งปวงนั้นล้วนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ (ญาณ ๓)


    รู้ว่ารูปนาม และปฏิกิริยาของจิตต่อรูปนามที่จิตไปรู้เข้า ล้วนแต่เกิดดับต่อเนื่องกันไป (ญาณ ๔)


    ต่อมาพอจิตมีปฏิกิริยาใดๆ ต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ถ้าสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ปฏิกิริยานั้นจะดับไปทันที (ญาณ ๕)


    ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า ภพชาติทั้งปวง อันหมายถึงการที่จิตเข้าไปอิงอาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นของไม่ปลอดภัย เนื่องจากอารมณ์ทั้งปวงล้วนแต่เกิดดับ (ญาณ ๖)


    ในระหว่างที่อิงอาศัยอารมณ์นั้น จิตไม่ได้มีความสุขจริง เพราะภพชาติทั้งปวงล้วนแต่มีทุกข์มีโทษในตัวของมันเอง (ญาณ ๗)


    จิตคลายความเพลิดเพลินพึงพอใจในภพชาติต่างๆ (ญาณ ๘)


    จิตพยายามดิ้นรนแสวงหาทางออกจากภพ หรือการตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ต่างๆ (ญาณ ๙)


    จิตพบว่าหนีจากอารมณ์หรือภพไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา จึงจำเป็นต้องอยู่กับมัน (ญาณ ๑๐)


    จิตเป็นกลางต่ออารมณ์ เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นของเกิดดับ และหนีมันไม่ได้ ยิ่งพยายามไปปฏิเสธมัน ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น จิตจึงไม่ปฏิเสธอารมณ์ เป็นกลางต่ออารมณ์ (ญาณ ๑๑)


    จิตปล่อยวางอะไรจะเกิดมันก็เกิด ไม่ได้ปรารถนาแม้กระทั่งมรรคผลนิพพาน (ญาณ ๑๒)


    เมื่อจิตหมดความอยาก (ไม่มีตัณหา - พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย แล้วนิโรธจะปรากฏเอง) จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวง ถอยเข้าหาจิตผู้รู้อย่างอัตโนมัติ (ญาณ ๑๓)


    สติ สมาธิ ปัญญา และธรรมฝ่ายการตรัสรู้ทั้งปวง รวมลงที่จิตดวงเดียวเป็นมรรคสมังคี กำลังของมรรคแหวกมโนวิญญาณซึ่งห่อหุ้มปิดบังธรรมชาติอันบริสุทธิ์ออก (ญาณ ๑๔)


    ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ปรากฏตัวขึ้น เป็นความว่าง สว่าง บริสุทธิ์ จิตหมดความปรุงแต่ง หมดการแสวงหา หมดกิริยาของจิต แต่ไม่ใช่หมดความรู้สึกอันเป็นการขาดสติสิ้นเชิง (ญาณ ๑๕)


    ต่อมาสัญญาเกิดขึ้น จิตจะรู้ว่า เมื่อครู่นั้นเกิดอะไรขึ้น รู้จักพระรัตนตรัยที่แท้จริง รู้แล้วว่าทางปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปทั้งสิ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อยังอยู่กับโลกก็ต้องอยู่อย่างสร้างเหตุดี เพื่อเอาผลของกรรมดีเป็นที่อาศัยอันสบาย (ญาณ ๑๖)


    ตลอดสายของโสฬสญาณ ไม่มีเรื่องของนิมิตแปลกปลอมใดๆ เลย แต่ผู้ใดเจริญสติและสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง หลงทำสมถะอยู่แล้วคิดว่าเป็นวิปัสสนา จะหลงไปเอานิมิตมาอธิบายเป็นวิปัสสนาญาณ และเห็นญาณต่างๆ ขาดจากกันเป็นท่อนๆ ไม่เห็นความสืบต่อเป็นสายโซ่ของญาณทั้ง ๑๖ ขั้นตอน


    ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่มุ่งโจมตีผู้อื่น แต่เพราะสงสารหมู่เพื่อนผู้ปฏิบัติจะเกิดสำคัญผิดหลงทาง จึงเขียนเพื่อจะสะกิดใจให้คิดสักนิดว่า จะฝึกหัดปฏิบัติธรรมอย่าหลงเชื่ออาจารย์อย่างเดียว ให้รู้จักศึกษาไตร่ตรองให้รอบด้านและรอบคอบ สิ่งที่ผู้เขียนเขียนขึ้นนี้อาจจะไม่จริงหรืออาจจะจริงก็ได้ ไม่ได้ต้องการให้เชื่อ เพียงแต่อย่าหลงงมงายขาดเหตุผลเชื่ออาจารย์ไปข้างเดียว ถ้าผิดขึ้นมาจะเสียประโยชน์ของตนเอง ผู้เขียนไม่ได้เสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ใดๆ ด้วย


    ๑๘ กันยายน ๒๕๓๙


    --------------------------------------------------------------------------------


    (โดยคุณปราโมทย์ วันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ ๐๘:๔๔:๕๒)



    ;aa50
     
  2. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอบคุณเจ้าของกระทู้ที่นำเรื่องนี้มาลงให้อ่านครับ


    สิ่งที่ท่านปราโมทย์กล่าวมาก็มีส่วนถูกอยู่ คือ เรื่องการปฏิบัติแบบยุบหนอ-พองหนอนี้ จริงๆ ไม่ตรงกับพระพุทธเจ้าทรงสอน ไม่ใช่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สอนกันในพระไตรปิฏก

    แต่ในความเป็นจริงๆ ของจริงๆ แล้ว มีการปฏิบัติที่ถูกต้องอยู่ เช่น การเจริญอนิจจสัญญา, ทุกขสัญญา, อนัตตสัญญา, อนิมิตตสมาธิ, สุญญตสมาธิ เป็นต้น ซึ่งหากเป็นวิธีการต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้เกิดญาณต่างๆ นี้ได้จริง ซึ่งแตกต่างหลายอย่างกับแบบยุบหนอพองหนอ รวมทั้งแตกต่างกับการดูจิตอย่างมาก ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถุกต้องแล้วอย่างนี้ ย่อมบังเกิดญาณต่างๆ ขึ้นมาเอง จะปรารถนา หรือไม่ปรารถนาก็ตาม เป็นไปรวดเดียวก็ได้ ค้างอยู่ที่ญาณใดก็ได้ ลงกันได้ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ว่าจะปริยัติ - ปฏิบัติ - ปฏิเวธ แม้แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นท่ามกลางก็ยังเกิดขึ้นตรงตามพุทธพจน์ทุกประการ...

    ดังนั้นจะกล่าวว่าอรรถกถาจารย์ไม่ถูกเลยก็ไม่ได้ อรรถกถาจารย์ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างดีที่สุดแล้ว เราจะไปเอาวิธียุบ-พองมากล่าวรวบไปว่าอรรถกถาจารย์นั้นผิด คัมภีร์วิสุทธิมรรคผิด เห็นว่าไม่ควรเลย เพราะมีการปฏิบัติที่ท่านเองก็ยังไม่ทราบ...ไม่ควรเหมารวมล้มกระดานตามทัศนะและปัญญาที่ตนมีเท่านั้น เพราะแต่ละคนบารมีด้านปัญญาไม่เท่ากัน ถึงแม้จะว่าจะเป็นผู้บรรลุธรรมเหมือนกันก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะรู้เท่ากันไปทั้งหมด

    โปรดพิจารณาดูเถิด

    ขอให้เจริญในธรรม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 เมษายน 2009
  3. minidog

    minidog Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 เมษายน 2009
    โพสต์:
    266
    ค่าพลัง:
    +91
    ทานข้าวด้วยมือซ้าย หรือมือขวาก็อิ่มเหมือนกัน บางคนใช้ช้อนบางคนใช้มือ แต่ทุกคนก็อิ่มเหมือนกัน
     
  4. เมตตาวิหารี

    เมตตาวิหารี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    671
    ค่าพลัง:
    +437
    ปรมจารย์ที่มาถ่ายทอด วิปัสสนาแบบ พอง ยุบ ตอนนี้ท่านชราภาพมากแล้วครับ ท่านอยู่ให้ลูกศิษย์ประคอง สังขารธรรมของท่าน อยู่ที่ รพ.ศิริราช ตึก มหิทรานุสรณ์ ชั้น 2 ห้อง 10 ท่านมีนามว่า หลวงปู่ ภัททันตะ อาสภะ มหาเถระ ครับ อายุท่าน 90 กว่าแล้วครับ หลวงปู่เป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณมากครับ พูดง่าย ๆ คือ ( อยู่ใกล้ ๆ ท่าน เหมือนอยู่ใกล้ ระฆังใบใหญ่ครับ เคาะทีเดียวแต่กังวาล กว้างไกล ) คือ เวลาถามข้อธรรม ต่าง ๆ เราถามสั้น ๆ แต่หลวงปุ่ขยาย ความได้ อย่างปราณีตมากครับ เพราะท่านเจนจบ พระไตรปิฏก ทั้ง 3 ปิฏก ( ท่องทรงจำ ซึ่งหาได้ยาก ) และหลวงปู่ยังเป็นผู้สืบสาย วิปัสสนาวงศ์ที่ประเทศพม่าครับ

    ที่ผมนำมาบรรยายให้ท่านผู้เจริญทั้งหลายฟังนั้น เพียงอยากแนะนำให้ท่านได้มีโอกาสได้กราบพระทองคำ เพื่อเป็นมงคลชีวิตครับ โดยส่วนตัว ผมเคยไปฝึกกรรมฐานกับท่านเมื่อเกือบยี่สิบก่อน เป็นเวลา 1 ปี ครับ ( วิเวกอาศรมชลบุรี )

    มีโอกาสไปร่วมสักการะนะครับ

    กระผมยังเป็นผู้ฝึกตน
    เมตตาวิหารี

    อนุโมทนาสาธุการ

    *ในหนังสือธรรมะในหลาย ๆ อาจารย์ที่แต่งที่เขียน มักจะกล่าวถึง หลวงปู่ ภัททันตะ อาสภะ มหาเถระ โดยมากครับ เพียงแต่บางท่านไม่เคยได้สัมผัส และได้รุ้จักเท่านั้นเองครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 เมษายน 2009
  5. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,917
    ค่าพลัง:
    +9,182
    เชื่อไหม ผมอ่านข้อความของเจ้าของกระทู้นี่ ผมอ่านปั๊บ เริ่มต้นผมก็ว่าดีนะ

    พอหลังๆ นี่เริ่มสรุปเองว่า สำนักนั้นสำนักนี้สอน วิปัสสนานั้นวิปัสสนาอย่างนี้ เริ่มสรุปเองตามความเข้าใจตน

    ผมก็นึกว่า ใครเขียนหนอ อยากจะพูดเหลือเกินว่าทำไมสรุปเอาเองแบบนี้ ก็กะว่าจะกล่าวตำหนิ เจ้าของกระทู้เสียหน่อยว่า เขียนเองหรือไง ไปหยิบสำนักนั้นนี้มา จับเข้ากับวิปัสสนาตามความเข้าใจตนได้อย่างไร

    เพราะว่า แต่ละสำนัก ต้องมี โสฬสญาณในการวิปัสสนาเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ วิธีการของสมถะ เท่านั้น

    ต่อจากนั้น ผมก็เริ่มเข้าใจเมืออ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายว่าใครเขียน ตถตา เช่นนั้นเอง
     
  6. บัวใต้น้ำ

    บัวใต้น้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2004
    โพสต์:
    888
    ค่าพลัง:
    +1,937
    อย่างเรื่อง โสฬสญาณ ลอง search คำๆนี้ในพระไตรปิฎกก็ไมได้กล่าวถึง พระพุทธเจ้าไมได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ถูกต้องแล้ว ครูบาอาจารย์รุ่นหลังแต่งขึ้นภายหลัง เพื่อเป็นกำลังใจ เทียบเคียง ให้นักภาวนามีกำลังใจ เป็นเพียงอุบาย

    ส่วนเรื่องพองหนอ ยุบหนอ ต้นกำเนิดจริงๆ มาจากประเทศพม่า ไทยกับพม่าฝึก"พองหนอ ยุบหนอ" เหมือนกัน แต่สภาวะธรรมไม่เหมือนกัน ที่พม่าฝึก พองหนอ ยุบหนอ แบบสบายๆ แต่ไทยไปรับของพม่ามา ไปกำหนด ต้องเคร่ง ต้องดีกว่าประเทศต้นตำรับ ก็จึงเพี้ยนเป็นพองหนอ ยุบหนอ แบบที่เห็นในปัจจุบัน
     
  7. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ผมก็ดูลม ดูท้อง เป็นพื้น มาก่อนที่สมาธิจะเห็นการเกิดดับ ก็เป็นอุบายที่ดีนะ เห็นการเคลื่อนไหว ที่กายก่อน ค่อยมาพิจารณา ขันธ์ทั้งสี่ ^-^
     
  8. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ

    หากคุณทำอย่างนั้นอยู่ก็ทำต่อไปได้ไม่เป็นไรครับ เพียงแต่ที่เจตนาที่กล่าวไปมุ่งให้เห็นว่าการบริกรรมลงท้ายว่า "หนอ" ในทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มีสอนมาจากในพระไตรปิฏกเท่านั้น ไม่ได้เป็นวิปัสสนากรรมฐานที่สอนในพระไตรปิฏก แต่เป็นการประยุกต์ขึ้นมาใหม่จากพระในประเทศพม่า และไม่ใช่ว่าผู้ที่ฝึกเมื่อทำไปแล้วจะไม่เห็นการเกิด-ดับของรูปนามได้ ก็เห็นได้เหมือนกันครับ ผมเองก็เคยฝึกแบบนี้มาก่อนเช่นกัน

    คำสอนของสายยุบหนอ-พองหนอก็มีส่วนที่น่าให้พิจารณาอยู่ ตรงที่บอกให้ดูความพอง-ยุบที่ท้องเป็นหลักโดยห้ามดูลมที่ปลายจมูก เพราะเนื่องจากเหตุผลว่าจะไปติดสมถะ (จากความจำ) ว่าสมาธิจะลึกเกินไปทำวิปัสสนาไม่ได้ตรงนี้ในพระไตรปิฏกไม่ได้สอนอย่างนั้นครับ ก็ถือว่าให้นำไปพิจารณาว่าวิธีสายนี้ที่ท่านพระมหาสีสยาดอประเด็นนี้ผิดถูกหรือไม่ประการใดต่อไปดูครับ

    ขอให้เจริญในธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...