ใช้ ปธาน ๔ คือความเพียร ๔ อย่าง เพื่อละกิเลส

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 1 ธันวาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    127280855_3928540523863266_6905061924352427864_n.jpg

    สำหรับในวันนี้อยากให้เราพินิจพิจารณาอยู่ในส่วนการปฏิบัติของเรา ซึ่งจะว่าไปแล้วสิ่งที่เราพยายามไขว่คว้าหามาทั้งหมด หรือว่าสิ่งที่เราพยายามผลักไสไล่ส่งเพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่ได้อยู่ไกลที่ไหน อยู่ในใจของเรานี่เอง เพราะฉะนั้น...การปฏิบัติจึงไม่ต้องไปใส่ใจเรื่องภายนอก สำคัญที่สุดตรงที่การชำระจิตใจของเราให้ผ่องใส ให้หมดสิ้นจากกิเลส โดยยึดหลักสัมมัปปธาน ๔ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องประกอบ

    เพราะว่าสภาพจิตของเรารับความดีความชั่วได้ทีละอย่างเดียว ไม่มีใครสามารถทำความดีความชั่วพร้อม ๆ กันได้ ต่อให้เจตนาแกล้งกระทำก็ทำไม่ได้ ดังนั้น...องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้มอบปธาน ๔ คือความเพียร ๔ อย่างให้กับเรา ได้แก่ ๑. สังวรปธาน คือ พินิจพิจารณาดูว่าใจของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ? พยายามเสาะหาโดยที่ไม่เข้าข้างตนเอง

    วิธีที่ง่ายที่สุดก็ดูไปตั้งแต่นิวรณ์ ๕ อย่าง ก็คือสภาพจิตของเรายังยึดโยงอยู่กับรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศหรือไม่ ? ยังโกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาท คนอื่นหรือไม่ ? มีง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจปฏิบัติหรือไม่ ? มีความฟุ้งซ่านรำคาญในจิตใจหรือไม่ ? มีความลังเลสงสัยในคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่ามีคุณความดีหรือไม่ ?

    ถ้าจะเอาให้กว้างกว่านั้น ก็ให้เอาตามหลักของสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ก็คือ ดูว่าเรามียังมีสักกายทิฐิ เห็นว่าตัวเราเป็นเรา ยึดถือคำว่าตัวกูเหนียวแน่นไม่ยอมละวาง วิจิกิจฉา มีความลังเลสงสัย ปรามาสในพระรัตนตรัยเป็นปกติ สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบไม่จริงไม่จัง กามฉันทะ ยังมีความยินดีในระหว่างเพศอยู่
    พยาปาทะ ยังโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทคนอื่นอยู่

    รูปราคะ ยังยึดในรูปว่าเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะรูปฌาน อรูปราคะ ยังยึดในสิ่งไม่ใช่รูปว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่น อรูปฌาน มานะ มีความถือตัวถือตน อุทธัจจะ มีความฟุ้งซ่านอยู่เสมอ และอวิชชา มีความเขลาเพราะไม่รู้จริง จึงไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราพินิจพิจารณาตามนี้ก็จะเห็นว่า รากเหง้าของความชั่วนั้นมีอยู่เต็มหัวใจของเรา ก็ต้องใช้ปหานปธาน คือ ความเพียรในการตัดละความชั่วออกไปจากใจของเรา

    นิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างนั้นสามารถแก้ด้วยอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ถ้าลมหายใจเข้าออกของเราทรงตัว นิวรณ์ ๕ อย่างก็จะสูญสลายไปชั่วคราว สภาพจิตของเราก็จะมีความผ่องใส ความชั่วไม่สามารถที่จะเข้ามายึดเกาะได้

    ส่วนในเรื่องของสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็น โดยเฉพาะเห็นทุกข์เห็นโทษของร่างกายนี้ ที่เกิดมาหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น

    และท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถยึดถือเป็นตัวเป็นตนของเราได้ ร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เหล่านี้เราไม่พึงปรารถนาอีก

    เมื่อเราพินิจพิจารณาเห็นตรงนี้แล้ว ก็กระโดดไปจับตัวสุดท้าย ก็คือทำอย่างไรที่จะตัด ละอวิชชาของเราได้ ก็คือ ต้องระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ตาเห็นรูปให้สักแต่ว่าเห็น อย่าไปยินดียินร้ายด้วย หูได้ยินเสียง จมูกได้ยิน ลิ้นได้รส กายสัมผัสใจครุ่นคิดก็เช่นเดียวกัน เพราะถ้ายินดีก็จะเป็นราคะ ยินร้ายก็จะเป็นโทสะ เป็นตัวก่อให้เกิดกิเลสใหญ่ทั้งคู่ ต้องทำใจให้เป็นกลาง ๆ ก็คืออุเบกขา ซึ่งได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ พยายามหยุดการปรุงแต่ง

    ตาเห็นรูปไม่คิดต่อ หูได้ยินเสียงไม่คิดต่อ จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดเราสามารถหยุดลงได้ กิเลสต่าง ๆ ก็เกิดไม่ได้ นิโรธ คือความดับกิเลสก็จะปรากฏขึ้นแก่เรา

    ลำดับต่อไป ก็คือ ภาวนาปธาน ความเพียรในการสร้างเสริมความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา ก็คือความเพียรตามไตรสิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา ประกอบความสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วข้อสุดท้าย ก็คือ อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาความดีด้านดีของตนในเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็คือประคับประคองด้านดีเอาไว้ ละเว้นด้านชั่วเสีย ถ้าสามารถกระทำดังนี้ได้ โอกาสที่เราจะก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์จึงจะมี จึงจะเกิดแก่เราได้
    ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...