(๒๓) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 24 กันยายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๓๑

    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๖

    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า สมุทยธมฺนุปสฺสี)


    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า สมุทรยธม์มานุปฺสี เป็นต้น สืบต่อจากวันจันทร์ก่อน วันจันทร์ก่อนถึงข้อที่ ๒๘ วันนี้เป็นข้อ ๒๙ มีใจความดังนี้

    ๒๙. สมทุยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ มีปกติเห็นธรรมะ คือความเกิดขึ้นในกายอยู่เนืองๆ ได้แก่ ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป

    วิยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ มีปกติเห็นธรรมะ คือความดับเสื่อมไปในกายอยู่เนืองๆ ได้แก่ ญาณที่ ๔ เป็นต้นไป

    สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ มีปกติเห็นธรรมะคือ ความเกิดขึ้น และความดับไปในกายอยู่เนืองๆ ได้แก่ ญาณที่ ๔ เป็นต้นไป

    รวมความว่า ทั้ง ๓ ข้อนี้ หมายเอาเห็นความเกิดและความดับของรูปนามด้วยภาวนามยปัญญา นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ เป็นต้น จนกระทั่งถึงญาณที่ ๑๒ คือ สัจจานุโลมิกญาณ

    ๓๐. อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ผู้เจริญวิปัสสนามีสติปรากฎอยู่เฉพาะหน้า ไม่เผลอจากรูปนาม ย่อมรู้ชัดว่า รูปนามมีอยู่ คือทั่วทั้งโลกมีเพียงรูปกับนามเท่านั้น สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ไม่มีเลย

    ๓๑. ยาว เทว ญาณมตฺตาย ปติสฺสติมตฺตาย สติมีอยู่ก็เพียงเพื่อรู้ เพื่อระลึกได้เท่านั้น แต่ที่ฝึกบ่อยๆ กำหนดบ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ อยู่นั้น ก็เพื่อให้สติสัมปชัญญะ มีกำลังแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป และเพื่อให้วิปัสสนาญาณมีกำลังแก่กล้าวิเศษขึ้นไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงมรรค ผล นิพพาน

    ๓๒. อนิสฺสิโต จ วิหรติ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยเลย คือเมื่อพิจารณาเห็นดังที่บรรยายมาแล้วนั้น ตัณหา ๑๐๘ และทิฏฐิต่างๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงเป็นอันดับลงไปด้วยอำนาจแห่งตฑังคปหาน วิกขัมภนปหาน และสมุจเฉทปหาน

    ๓๓. น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ไม่ยึดมั่นอะไรๆ เลยในโลก คือไม่ยึดมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอัตตภาพนี้ว่า เป็นเรา เป็นของๆ เรา ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สัลัพพตปรามาสเสียได้
    เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ ด้วยประการฉะนี้
    ถ. การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องป่า โคนไม้ บ้านว่าง ไว้ในมหาสติปัฏฐานนี้ เพื่อประสงค์อะไร ยกอุปมาอุปมัยมาประกอบด้วย?
    ต. เพื่อประสงค์จะชี้บอกสถานที่อันเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนา ตามนัยแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ มีอุปมาอุปมัย ดังนี้คือ

    อันธรรมดาจิตของทุกๆ คน ซึ่งยังมีกิเลสอยู่ ย่อมมีลักษณะเหมือนกับสิ่งไม่อยู่เป็นสุข ไม่สงบ ย่อมแส่หาแต่อารมณ์ที่ตนชอบ และเหมือนกันกับปลาที่ยกขึ้นจากน้ำ ย่อมแส่หาน้ำฉธนั้น นอกจากนี้ ท่านยังแสดงว่า จิตนั้นย่อมแล่นไปในอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ตลอดกาลช้านานมาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะหยั่งลงสู่วิถีทางอันถูกต้องคือพระกรรมฐาน ย่อมจะแล่นไปผิดทาง แล่นไปนอกทางที่ต้องการเสมอ อุปมาเหมือนกับรถที่เทียมด้วยโค คือ โคโกง ย่อมจะพาแอกพาเกวียนออกนอกลู่นอกทางเสมอ ฉะนั้น สมดังคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า
    "เสยฺยถาปิ นาเม โคโป กุฏเธนุนา สพฺพํ ขีรํ ปิวิตฺวา วฑ์ฒิตํ กุฏวจฺฉํ ทเมตุกาโม" เป็นต้น
    ใจความว่า คนเลี้ยงโค ประสงค์จะฝึกลูกโคโกง ตัวที่ดื่มนมทั้งหมด จากแม่โคโกง จนเจริญเติบโตขึ้นมาโดยลำดับๆ จึงพรากจากแม่ไป เอาเชือกเส้นใหญ่ๆ ผูกไว้กับเสาต้นโตๆ ลูกโคตัวนั้นก็จะต้องดิ้นรนวิ่งไปข้างโน้น วิ่งไปข้างนีไม่หยุดยั้ง เมื่อไม่สามารถจะหลุดหนีออกไปได้ ก็ต้องยืนหรือนอนอยู่กับเสานั้น ข้อนี้ฉันใดนักปฏิบัติธรรม ผู้ประสงค์จะฝึกจิตของตนก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเมื่อจะฝึกจิตคือจิตโกง ที่เจริญเติบโตมาเพื่อดื่มรสแห่งรูปารมณ์ สัทธารมณ์ คันธารมณ์ เป็นต้นตลอดกาลาน จึงจำเป็นต้องพรากจากอารมณ์ทั้ง ๕ มีรูปเป็นต้นนั้นเสียแล้ว เข้าไปอยู่ป่า โคนไม้ หรือห้องกรรมฐาน เอาเชือกเส้นใหญ่ๆ คือสติ ผูกไว้กับต้นโตๆ คือสติปัฏฐาน ถึงแม้จิตของท่านผู้นั้นจะดิ้นรนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่ตนเคยได้ในกาลก่อน ก็จะไม่สามารถตัดเชือกคือสติหนีไปได้ จะต้องนั่งหรือนอนอยู่กับอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งขณิกสมาิธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เพราะเหตุนั้น ท่านพระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวเตือนสตินักปฏิบัติธรรมไว้ว่า
    ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
    พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ สติยารมฺมเณ ทฬฺหํ
    นักปฏิบัติธรรมคือผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน พึงเอาเชือกเส้นโตๆ คือสติผูกจิตไว้ให้ดี คือให้มั่นคงที่เสา คืออารมณ์ของพระกรรมฐาน เหมือนกันกับบุคคลผู้จะฝึกลูกโคในโลกนี้ ต้องเอาเชือกเส้นโตๆ ผูกไว้กับเสา แล้วฝึกได้ตามสบายตามใจชอบ ฉะนั้น

    เพราะเหตุผลดังบรรยายมานี้ สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสเรื่องป่าเป็นต้น ไว้ในพระสูตรนี้

    ถ. การเจริญนมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน กำหนดสถานที่ต่างกันอย่างไร?
    ต. ต่างกันอย่างนี้ คือ
    การเจริญสมถกรรมฐานต้องการความสงบ เพราะเสียงเป็นข้าศึกเป็นปฏิบัติต่อการเจริญสมถะมาก ถ้าประสงค์จะเจริญสมถะให้ได้ฌานก่อนแล้วจึงเอาฌานให้เป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อ ต้องออกไปอยู่ในที่เงียบสงัด เช่น ป่า โคนไม้เป็นต้น ซึ่งปราศจากเสียงรบกวน ข้อนี้มีหลักฐานในอรรถกถารับรองรองไว้ว่า
    อิตฺถิปุริสหตฺถิอสฺสาทิสทุททกากุลํ คามนฺตํ อปริจฺจชิตฺวา น สุกรํ สมฺปาเทตุ ํ สทฺทกณฺฏกตฺตา ฌานสฺสํ อคามเก ปน อรญฺเญ สุกรํ โยคาวจเรน อทํ กมฺมฏฺฐานํ อรคฺคเหตฺวา อานาปานจตุุตฺถชฺฌานํ นิพฺพาตฺเตตฺวา ตเทว ฌานํ อาทกํ กตฺวา สงฺขาเร สมฺมสิตฺวา อคฺคผลํ อรหตฺตํ ปาปุณิตุ ํ
    พระโยคาวจร คือผู้เจริญกรรมฐาน เมื่อไม่ละสถานที่ใกล้บ้าน ซึ่งมีเสียงต่างๆ รบกวน เช่น เสียงหญิง ชาย ช้าง ม้า เป็นต้น จะไม่สามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้ง่ายเลย เพราะเสียงเป็นเสี้ยนหนาม เป็นข้าศึกต่อฌาน แต่ถ้าผู้ปฏิบัตินั้นไม่อยู่ป่า ซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านนัก แล้วเจริญอานาปานกรรมฐาน ถือเอาลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ จนเกิดจตุตถฌาน กระทำฌานนั้นให้เป็นบาท พิจารณารูปนาม ต่อไปจะได้บรรลุอรหันตผลอันเลิศ

    ส่วนการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยตรงๆ นั้น ไม่กลัวเสียง เสียงก็เอามาเป็นอารมณ์ของกรรมฐานได้ เพราะวิปัสสานาได้ขันธ์ ๕ คือ รูปกับนามเ็ป็นอารมณ์ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจคิดธรรมารมณ์เมื่อใด รูปนามก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานสามารถกำหนดได้หมดทุกๆ ทาง เช่น ขณะที่ตาเห็ ภาวนา เห็นหนอ ขณะที่หูได้ยินเสียงภาวนาว่า ได้ยินหนอ เป็นต้น

    การกำหนดท้องพองยุบนี้ เป็นยอดของกายานุปัสสนา พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ไม่ทรงละเลย แม้พระสาวกของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ก็ไม่ละเลย เพราะเป็นกรรมฐานที่ให้ได้บรรลุคุณวิเศษ เป็นกรรมฐานที่ให้อยู่เป็นสุขในภพปัจจุบัน สมดังหลักฐานในอรรถกถาว่า

    ลพฺพพุทธานํ วิชหิตํ สติปฏฺฐานสุตฺตํ

    สติปัฏฐานสูตร คือพระสูตรที่ว่าด้วยสติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนาเป็นต้น พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ไม่ทรงละ

    อิทํ กายานุปสฺสนาย มุทฺธภูตํ สพฺพพุทธปจฺเจกพุทฺธสาวกานํ วิเสสาธิคมทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารปทฏฺฐานํ อานาปานสติ.

    การเจริญกรรมฐาน โดยใช้สติกำหนดลมเข้า ออก เช่น พอง ยุบ เป็นตัวอย่าง เป็นยอดของกายานุปัสสนาเป็นปทัฏฐาน คือเหตุที่ให้ได้บรรลุคุณวิเศษและเป็นเหตุให้อยู่เป็นสุขในภพปัจจุบัน สำหรับพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และสำหรับพระสาวกทุกๆ องค์

    ถ. การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้บอกสถานที่สำหรับบำเพ็ญธรรมไว้ ๓ แห่ง คือ ป่า โคนไม้ บ้านว่าง ั้น มีผลดีแก่นักปฏิบัติอย่างไร?
    ต. พระพุทธองค์เป็นเสมือนอาจารย์ผู้ชำนาญวิชาดูสถานที่ คือ ธรรมดาว่าบุคคลผู้เป็นอาจารย์มีความเชี่ยวชาญในการดูสถานที่สร้างเมืองนั้น สามารถจะชี้บอกได้ทีเดียวว่า ผืนแผ่นดินตรงนั้นสมควรสร้างเมืองได้ ถ้าสร้างแล้วจะได้รับแต่ความสวัสดี จะได้รับแต่ความเจริญรุ่งเรือง ข้อนี้ ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น พระองค์ทรงทราบดีว่า ถ้านักปฏิบัติธรรม อาศัยเสนาสนะที่เหมาะสมปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐานตามที่พระองค์ทรงแนะนำนั้น จะได้บรรลุคุณวิเศษโดยลำดับๆ นับแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นปริโยสาน

    ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนอย่างว่า เสือใหญ่ อาศัยชัฏหญ้า ชัฏป่า ชัฏภูเขาแอบอยู่ในป่าแล้วจับกระบือป่า โคป่า หมู่ป่า เป็นต้น ได้อย่างสบาย ฉันใด นักปฏิบัติธรรม ก็ฉันนั้น เมื่อเจริญกรรมฐานอยู่ในสถานที่ทัี้ง ๓ แห่งดังกล่าวมานั้น ก็สามารถจะได้บรรลุอริยมรรค ๔ อริยผล ๔ โดยลำดับๆ อย่างสะดวกสบายเหมือนกัน ฉันนั้น สมเด็จบาทพระคาถาที่พระโบราณาจารย์ได้แสดงไว้ว่า
    ยถาปิ ทีปิโก นาม นิสียิตฺวา คณฺหติ มิเต
    ตเถวาหํ พุทฺธปุตฺโต ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
    อรญฺเญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหติ ผลมุตฺตมํ

    ธรรมดาว่า เสือ เมื่อแอบอยู่ในป่าที่รกชัฏ สามารถจับเนื้อทั้งหลายกินเป็นอาหารได้ ฉันใด บุตรของพระพุทธเจ้า คือท่านผู้ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เข้าไปสู่ป่าตั้งใจปฏิบัติธรรม สามารถได้บรรลุผลอันสูงสุด คือ มรรค ผล นิพพานได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

    การที่พระพุทธองค์ ทรงชี้บอกสถานที่ไว้สำหรับบำเพ็ญธรรม ปฏิบัติธรรมมีผลดี มีประโยชน์มาก ดังบรรยายมาฉะนี้

    ถ. การกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น ทำอย่างไร จึงจะเกิดได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา?
    ต. เมื่อกำหนดลมเข้าออกโดยวิธีคิดตามลม เช่นเวลาลมเข้า ต้นลมอยู่ริมจมูก กลางลมอยู่ที่หัวใจ ปลายลมอยู่ที่สะดือ เวลาหายใจออก ต้นลมอยู่ที่สะดือ กลางลมอยู่ที่หัวใจ ปลายลมอยู่ที่จมูก หรือกำหนดโดยวิธีนับลม เช่นหายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๑ หายใจเข้าหายในออกนับเป็น ๒ ปฏิบัตินี้จนถึง ๕ แล้วตั้งต้นใหม่จนถึง ๖ ตั้งต้นใหม่จนถึง ๗-๘-๙-๑๐ แล้วกลับมาตั้งต้น ๑-๕ ใหม่อีก เมื่อทำกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ สามารถจะยังฌานทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อฌานทั้ง ๔ เกิดขึ้นได้แล้ว ชื่อว่าสมถกรรมฐานได้ผลดีแล้ว

    นอกจากนั้น เมื่อออกจากฌานแล้วจะกำหนดลมเข้าลมออกที่ท้องพอง ท้องยุบ โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น เช่นกำหนดว่า

    อิเม อสฺสาสปสฺสาสา กึ นิสฺสิตา ลมเข้าลมออกเหล่านี้อาศัยอะไร เมื่อกำหนดไปก็จะทราบได้ว่า วตุถฺนิสฺสิตา อาศัยวัตถุ คือกรชกาย กรชกายก็ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ นั่นเอง

    รูปนี้เป็นที่อาศัยเกิดของนาม แม้องค์ฌาน คือวิตก วิจาร ปีติ เป็นต้น ซึ่งเป็นนามก็อาศัยรูปเกิด เพราะฉะนั้น ในสกลกายนี้จึงมีอยู่เพียงรูปกับนามเท่านั้น

    ต่อจากนั้นก็แสวงหาเหตุปัจจัยของรูปนาม คือปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชาเป็นต้น หาความข้องใจสงสัยในรูปนาม เห็นด้วยปัญญาแน่ชัดลงไปว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขาเลย มีแต่รูปกับนามเท่านั้น

    ต่อจากนั้น ก็ยกรูปกับนามขึ้นมาสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เจริญวิปัสสนาเห็นความเกิดดับ เห็นเฉพาะความดับของรูปนาม เห็นรูปนามน่ากลัว เห็นทุกข์โทษ เบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ตั้งใจปฏิบัติ วางเฉย เห็นอริยสัจ ๔ รูปนามดับ มรรค ผล เกิด ปัจจเวกขณญาณเกิด ปฏิบัติต่อไป ไปโดยทำนองนี้่ จนได้อรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นปริโยสาน

    ถ. ลมเข้า ลมออก จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยอะไร?
    ต. เพราะอาศัยเหตุ ๓ อย่าง คือ กาย ช่องจมูก จิต ถ้ากายแตก ช่องจมูกถูกทำลาย จิตดับ ลมเข้า ลมออก ก็เป็นไปไม่ได้ เปรียบเหมือนกันกับสูบของนายช่างเหล็ก ก้านของสูบ และความพยายามของคนผู้ชักดึงก้านของสูบ ถ้าสูบคานสูบ ความพยายามทั้ง ๓ อย่างนี้ก็ไม่มี ลมก็เป็นไปไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

    ถ. เมื่อกำหนดท้องพองยุบได้ถูกต้องแล้ว จะเห็นอริยสัจ ๔ ได้ตรงไหน?
    ต. วินาทีแรกที่ท้องเริ่มพอง เป็นความเกิดขึ้นของรูปกับนาม เรียกว่า ชาติ ชาตินี้แหละเป็นตัวสมุทัย ดังบาลีว่า ชาติ สมุทยสจฺจํ ชาติคือความเกิดขึ้นของรูปนามเป็นสมุทัยสัจ

    เมื่อท้องพองแล้วทนอยู่ไม่ได้ จะต้องพองมากขึ้นๆ ไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งสุดพอ เรียกว่าชรา และมรณะ ชรากับมรณะนี้แหละ เป็นตัวทุกข์ ดังบาลีว่า ชรามรณํ ทุกขสจฺจํ ชราและมรณะเป็นทุกขสัจ

    เมื่อทุกข์กับสมุทัยดับลงไป เป็นนิโรธสัจ ดังบาลีว่า อุภินฺนํปิ นิสฺสรณํ นิโรธสจฺจํ ทุกข์กับสมุทัยทั้ง ๒ นั้นดับลงไป เป็นนิโรธ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมัคคสัจจะ

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ตอนที่ว่าด้วย อานาปานบรรพ ก็จบลงพอดี จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


    ;aa40


    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)
    คำบรรยาย: วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๘
    หน้า ๑๙๗-๒๐๓

     

แชร์หน้านี้

Loading...