๒.พระเขมาเถรี ผู้เลิศในทางมีปัญญามาก

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 27 กรกฎาคม 2009.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระเขมาเถรีเป็นธิดาแห่งตระกูลกษัตริย์ เกิดที่เมืองสาคละ แคว้นมัททะ มีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณผุดผ่องดังทอง เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นมเหสีพระองค์หนึ่งในจำนวนหลายพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งเมืองราชคฤห์ แคว้น มคธ ว่ากันว่าเป็นมเหสีคนโปรดของพระเจ้าพิมพิสารด้วย

    พระนางเขมาเป็นผู้ที่ภาคภูมิใจในความสวยงามของตนมาก มากจนกระทั่งหลงว่าไม่มีใครงามเกินตนไปได้ พระราชสวามีนั้นเป็นคนเคร่งศาสนา หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดแสดงธรรมให้พระองค์ฟัง พระองค์ก็ได้ปฏิญญาตนเป็นพุทธมามกะผู้เคร่งครัด ถึงกับสละสวนไผ่อันรื่นรมย์นอกเมืองราชคฤห์ให้เป็นวิหาร (วัด) ที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ นามว่า "วัดพระเวฬุวัน" เมื่อยามว่างจากราชกรณียกิจ ก็จะเสด็จไปเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเสมอ

    พระราชสวามีทรงชักชวนพระนางเขมาไปฟังธรรมทุกครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธทุกครั้งเช่นกัน พระนางเขมาได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้ามักจะตรัสตำหนิความสวยความ งามอยู่เสมอ มักจะตรัสว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยงแท้และแน่นอน เกิดมาแล้วก็ย่อมแปรผันและเสื่อมสลายไปในที่สุด ซึ่งพระนางทรงรับฟังไม่ได้เพราะเท่ากับมานั่ง "ฟังด่า" พระนางคิดอย่าง นั้น จึงไม่ยินดีไปฟังธรรมที่พระเวฬุวัน

    พระราชสวามีได้ปรึกษากับกวีเอกแห่งราชสำนัก ถึงอุบายที่จะจูงใจให้พระมเหสีคนโปรดไปฟังธรรมโดยสมัครใจ แผนการก็เริ่มขึ้นอย่างเงียบเชียบ เป็นขั้นเป็นตอน ในที่สุดทุกอย่างก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ พระ นางเขมาออกปากเองว่าอยากไปพระเวฬุวัน

    เรื่องของเรื่องก็คือ กวีเอกแห่งราชสำนัก ได้แต่งเพลงบรร ยายถึงความน่ารื่นรมย์แห่งพระเวฬุวันว่าสวยงาม น่าเที่ยวชมน่าอภิรมย์ใจเพียงใด แต่งได้อย่างกินใจและท่วงทำนองการขับเพลงก็ไพเราะรื่นหูเสียนี่กระไร จนวันหนึ่ง พระนางเขมากราบทูลพระราชสวามีว่า อยากไปดูพระเวฬุวัน

    พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปพระเวฬุวันพร้อมกับพระมเหสี วันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาให้ทั้งสอง พระองค์ฟัง

    ทรงเนรมิตภาพนางอัปสรสวยงามมากนางหนึ่ง ยืนถวายงานพัดพระพุทธองค์ขณะแสดงธรรม ไม่มีใครมองเห็น นอกจากพระนางเขมาพระองค์เดียว พระนางจ้องภาพนั้นไม่กะพริบพระเนตร ทรงรำพึงว่า โอนางช่างสวยงามจริงๆ สวยกว่าตัวพระนางอีก ขณะที่พระนางจ้องดูอยู่นั้น นางอัปสรก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปจากเด็กสาวสวยวัยรุ่น เป็นสาวใหญ่ เป็นหญิงวัยกลางคน เป็นหญิงแก่ แก่หง่อมหนังเหี่ยว ฟันเหยิน ผมหงอก หลังโกง จนกระทั่งล้มลงนอนตายอยู่ใกล้ๆพระพุทธองค์

    จิตใจของพระนางเขมาเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ จากการยึดติดในความสวยงาม จนกระทั่งเกิดความสะอิดสะเอียนในความน่าเกลียดของร่างกาย พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความเปลี่ยนแปลงภายในใจของพระนาง จึงตรัสเตือนสติแผ่วเบาว่า

    "เขมา สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีเกิดก็มีแปรเปลี่ยนและเสื่อมสลายไปในที่สุด ดูอย่างสาวน้อยคนนี้ ในที่สุดก็ถึงซึ่งความตาย"

    พระนางเข้าใจถึงความจริงของสรรพสิ่งดังหนึ่งตื่นจากนิทรา ทรงส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

    คฤหัสถ์ผู้บรรลุพระอรหัตแล้วไม่ควรอยู่ครองเรือน พึงบวชในวันนั้น หาไม่เพศฆราวาสจะไม่สามารถ "ธาร" (ทรง) ภาวะแห่งพระอรหันต์ได้ จะต้องนิพพานในวันนั้นหรือไม่ก็ต้องบวช จึงจะดำรงชีวิตต่อไปได้ พระนางจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระราชสวามีบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งก็ได้รับพระราชทานอนุญาต

    นางบวชเป็นภิกษุณีแล้วได้รับยกย่องในเอตทัคคะ (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางผู้มีปัญญามาก พระเขมาเถรีใช้ปัญญาอันแตกฉานของพระองค์เป็นเครื่องมือในการให้คำปรึกษาแก่ภิกษุณีอื่นๆ และในการประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายกว้างขวางต่อไป กิตติศัพท์ความเป็นผู้มีความสามารถถ่ายทอดธรรมแก่ประชาชนได้ระบือไปไกล

    วันหนึ่งพระเขมาเถรีพำนักอยู่ที่โตรณะวัตถุ ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองสาเกต พระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราชกษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถีบังเอิญเสด็จผ่านไปทางนั้น ทรงทราบว่าพระเขมาเถรีพำนักอยู่ที่เมืองนั้น จึงเสด็จไปสนทนาธรรมด้วย

    พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปัญหาธรรมหลายข้อ อาทิ พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ภายหลังจากนิพพานแล้วจะยังคง "ดำรงอยู่" หรือไม่ ได้รับการวิสัชนาอย่างแจ่มแจ้งจากพระเขมาเถรี เป็นที่พอพระทัย ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเล่าถึงบทสนทนาระหว่างพระองค์กับพระเขมาเถรีถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่าที่พระเขมาเถรีวิสัชนานั้นถูกต้องแล้ว และทรงอนุโมทนาด้วย

    หลักฐานไม่บอกว่าพระเขมาเถรีนิพพานเมื่อพระชนมายุเท่าไร ณ ที่ไหน แต่ไม่ว่าจะมีพระชนมายุสั้นหรือยาวแค่ไหน พระอรหันต์ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติดีงาม) ก็ได้ทำประโยชน์แก่มนุษยชาติสมบูรณ์ แม้จะมีชีวิตอยู่เพียง วันเดียวก็เกินคุ้มแล้วครับ ดังพุทธวจนะว่า คนที่ไม่เข้าถึงธรรมบรรลุอมตบท (พระนิพพาน) ถึงจะอยู่ร้อยปีก็สู้คนที่เข้าถึงธรรมบรรลุอมตบทที่มีชีวิตอยู่ วันเดียวไม่ได้

    หน้า 31


    เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต


    ˹ѧ
     

แชร์หน้านี้

Loading...