(๔๐) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 9 ธันวาคม 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๔๘
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง
    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า ขันธ์ ๕)
    (f)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยขันธ์ ๕ สืบต่อไป

    ถ. ข้อว่า ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า "ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฎฎสงสารทั้งหลาย ธัมมานุปัสสนาข้ออื่นนอกจากนิวรณ์ ๕ ไป ยังมีอยู่อีกแล คือ ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เนืองๆ

    หมายความว่า ผู้ที่เจริญวิปัสสนา มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะย่อมพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เนืองๆ คือพิจารณาเห็นเป็นแต่เพียงรูปนามเกิดขึ้นมาเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

    ถ. คำว่า อุปาทานขันธ์ แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า ขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปทานทั้ง ๔ ดังมีหลักฐานรับรองไว้ในฎีกาวิสุทธิมรรค ภาค ๑ หน้า ๓๔๖ ว่า

    อุปาทานํ อารมฺมณภูตา ขนฺธา อุปาทานกฺขนฺธา
    ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอารมณ์แห่งอุปาทานทั้ง ๔ ชื่อว่า อุปาทานขันธ์
    หมายความว่า ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นอารมณ์ของอุปาทาน อุปาทานเข้าไปยึดมั่นเข้าไปถือมั่นขันธ์ทั้ง ๕ นี้

    ถ. อุปาทาน แปลว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง?

    ต. แปลว่า เข้าไปถือมั่นยึดมั่น มีอยู่ ๔ อย่างคือ


    ๑. กามุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในกามคุณ ๕ คือ กามตัณหานั่นเอง องค์ธรรมได้แก่โลภเจตสิกที่ในโลภมูลจิต ๘ ดวง
    ๒. ทิฏฐุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิ คือความเห็นผิด องค์ธรรม ได้แก่ ทิฎฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง
    ๓. สีลัพพัตตุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในการปฏิบัติผิด องค์ธรรมได้แก่ทิฎฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง
    ๔. อัตตวาทุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน องค์ธรรมได้แก่ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง

    ถ. อุปาทานขันธ์ มีเท่าไร อะไรบ้าง?

    ต. อุปาทานขันธ์ มี ๕ คือ


    ๑. รุปูปาทานขันธ์ กองรูปที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔
    ๒. เวทนูปาทานขันธ์ กองเวทนาที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เวทนาเจตสิกที่ในโลียจิต ๘๑ ดวง
    ๓. สัญญูปาทานขันธ์ กองสัญญาที่เป็นอารมณ์ของอุปทาน องค์ธรรมได้แก่สัญญาเจตสิกที่ในโลกียจิต ๘๑ ดวง
    ๔. สังขารูปาทานขันธ์ กองสังขารที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เจตสิก ๕๐ ดวง (เว้นเวทนา สัญญา) ที่ในโลกียจิต ๘๑ ดวง
    ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ กองวิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑ ดวง

    ถ. ธมฺเมสุ แปลว่า ในธรรมทั้งหลาย คำว่า ธรรมทั้งหลายในที่นี้ได้แก่อะไรบ้าง?
    ต. ได้แก่อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ดังที่ได้บรรยายมาแล้วข้างต้นนั้น

    ถ. ธมฺมานุปสฺสี แปลว่า มีปกติเห็นธรรมเนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล

    ถ.วิหรติ แปลว่า อยู่ หมายความว่าอย่างไร
    ต. หมายความว่า มีพระกรรมฐานเป็นเรือนใจอยู่ คืออยู่กับพระกรรมฐานไม่อยู่ปราศจากพระกรรมฐานนั่นเอง

    ถ. ข้อว่า "อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อิติ รูปํ อิติ รูปสฺส สมุทโย" เป็นต้นนั้น แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฎฎสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฎฎสงสารในพระศาสนานี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า อย่างนี้ รูป, อย่างนี้ ความเกิดขึ้นของรูป, อย่างนี้ ความดับไปของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็พิจารณาเห็นโดยทำนองเดียวกันอย่างนี้


    หมายความว่า ขณะที่ตากับรูป หูกับเอียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์ กระทบกันครั้งหนึ่งๆ ขันธ์ ๕ คือรูปกับนามก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ขณะที่ตาเห็นนาฬิกา ขันธ ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ


    สีของนาฬิกา กับจักขุปสาท เป็นรูปขันธ์
    เมื่อเห็นนาฬิกาแล้วถ้ารู้สึกดีใจ เป็นสุขเวทนา ถ้ารู้สึกทุกข์ใจ เป็นทุกขเวทนา ถ้ารู้ใจใจเฉยๆ เป็อุเปกขาเวทนา เวทนาทั้ง ๓ นี้แหละ เป็นเวทนาขันธ์

    ความจำนาฬิกาได้ เป็นสัญญาขันธ์

    ปรุงแต่งใจให้เห็นว่า นาฬิกานี้ดี หรือไม่ดี เป็นสังขารขันธ์

    เห็นเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า จักขุวิญญาณจิต เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น เวลาตาเห็นรูป หรือ หูได้ยินเสียง เป็นต้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องกำหนดว่า เห็นหนอ หรือได้ยินหนอ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในขั้นต้นๆ จะเห็นว่ามีแต่รูปกับนามเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาเห็นรูปเห็นนาม

    การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามนี้ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ พิจารณาโดยอาศัยหลักปริยัติ ๑ พิจารณาโดยการปฏิบัติ ๑


    ๑. พิจารณาโดยอาศัยหลักปริยัติ เช่น พิจารณาว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้เกิดขึ้นมาเพราะเหตุ ๒๕ อย่าง คือ


    ๑. รูปเกิดขึ้น เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม อาหารและความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว
    ๒. เวทนาเกิดขึ้น เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว
    ๓. สัญญาเกิดขึ้น เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว
    ๔. สังขารเกิดขึ้น เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว
    ๕. วิญญาณเกิดขึ้น เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม นามรูปและความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว
    ๒. พิจารณาโดยการปฏิบัติ เช่น ขณะที่ตาเห็นก็พิจารณาว่า เห็นหนอๆ หูได้ยินเสียง ก็พจิารณาว่า ได้ยินหนอๆ เมื่อพิจารณาไปจะรู้เหตุและผลของรูปกับนามได้ดีมาก คือ บางครั้งรูปเป็นเหตุ นามเป็นผล เช่น ท้องพองขึ้นไปเสียก่อนแล้วนามจึงตามไปกำหนดทีหลัง บางครั้งนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล เช่น สติคอยจ้องจะกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ท้องจึงเริ่มพองขึ้นไป แม้วเลาจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เป็นต้น ก็มีเพียงเหตุกับผลเท่านี้ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา อะไรทั้งสิ้น


    ส่วนการพิจารณาเห็นความดับไปของรูปนามนั้น ก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง เช่นกันคือ ภาคปริยัติ หรือภาคทฤษฎี ๑ ภาคปฏิบัติ คือ ภาคลงมือทำ ลงมือพิสูจน์ ๑


    ๑. ภาคปริยัติ ก็พิจารณาเห็นโดยลักษณะ ๒๕ อย่าง คือ


    ๑. รูปดับไป ก็เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร ดับไปและเพราะความดับไปของรูปอย่างเดียว
    ๒. เวทนาดับไป ก็เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไป และเพราะความดับไปของเวทนาอย่างเดียว
    ๓. สัญญาดับไป ก็เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไป และเพราะความดับไปของสังขารอย่างเดียว
    ๔. สังขารดับไป ก็เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไป และเพราะความดับไปของสังขารอย่างเดียว
    ๕. วิญญาณดับไป ก็เพราะอวิชชา ตัณหา กรรม นามรูปดับไปและเพราะความดับไปของวิญญาณอย่างเดียว
    ๒. ภาคปฏิบัติ ในขณะที่พิจารณาว่า เห็นหนอๆ หรือได้ยินหนอๆ เป็นต้นนั้น จะเห็นรูปนามดับลงไปเป็น ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะของญาณต่ำ ๑ ลักษณะของญาณสูง ๑


    ลักษณะของญาณต่ำ นั้น เช่น ขณะที่ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้น ภาวนาว่า เห็นหนอๆ นั้น รูปกับนามดับไปๆ ทุกขณะ แม้ในขณะที่ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือขวาย่างหนอ ว้ายย่างหนอ ก็มีรูปนามเกิดดับอยู่ทุกขณะ อย่างนี้ผู้ปฏิบัติรู้ได้เฉพาะตัว ผู้ไม่ปฏิบัติจะไม่รู้ได้เลย

    ลักษณะของญาณสูง คือตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึงสังขารุเปกขาญาณ เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น เมื่อมีความเพียร มีสติ มีปัญญาพิจารณาถูกต้องตามนัยแห่งวิปัสสนากรรมฐาน อันมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว จะเห็นรูปนามดับลงไปอย่างชัดเจน แต่ยังไม่เแจ่มแจ้งแท้ ในขณะดับนั้นเรียกว่า สันตติขาด จะมีอาการตกใจเล็กน้อย ข้อนี้รู้ได้เฉพาะผู้ปฏิบัติเท่านั้นปริยัติจะพิสูจน์ไม่ได้เลย แม้จะเรียนจนจบพระไตรปิฎก ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้คือไม่สามารถจะเห็นความเกิดดับของรูปนามได้เป็นอันขาด ถ้าผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นจึงจะรู้ได้ เรียกว่า เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะผู้ทำจริงๆ ดุจรับประทานอาหารจะอิ่มเฉพาะผู้รับประทานเท่านั้น เราจะปรุงอาหารวันละกี่หม้อกี่กะทะก็ตามเถิด ถ้าเราไม่รับประทานจะไม่อิ่มท้องเลย ข้อนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น

    ส่วนการจะรู้แจ่มแจ้งจริงๆ ว่า ก่อนรูปนามจะดับจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ขณะดับเป็นอย่างไร หลังจากดับแล้วเป็นอย่างไรนั้น ต้องปฏิบัติถึงสัจจานุโลมิกญาณ คือ ญาณที่ ๑๒ จึงจะรู้ได้อย่งชัดเจนแจ่มแจ้งแท้
    ถ. เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้นนั้น ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นอย่างเดียวหรือ หรือวมีอะไรเกิดขึ้นตามมาอีก?
    ต. มี กิเลสเกิดตามมาอีก เช่น เห็นรูปดี ชอบใจเป็นโลภะ เห็นรูปไม่ดี ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ เห็นรูปแล้วรู้สึกเฉยๆ แต่ไม่มีสติกำหนดรู้ เป็นโมหะ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกเย็นร้อน อ่อนแข็ง ใจนึกคิดธรรมารมณ์ กิเลสก็เกิดโดยทำนองเดียวกันนี้

    ถ. ข้อว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ นั้น แปลและหมายความว่าอย่างไร?

    ต. แปลว่า มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ในภายในอยู่ อย่างที่แสดงมาแล้วนี้ หมายความว่าดังนี้คือ


    ๑. อชฺฌตฺตํ ในภายใน ได้แก่ธรรมของตน คือขันธ์ของตนนั่นเอง
    ๒. ธมฺเมสุ ในธรรมทั้งหลาย ได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕
    ๓. ธมฺมานุปสฺสี ได้แก่ พิจารณาเห็นขันธ์ใดขันหนึ่งใน ๕ ขันธ์นั้น
    ๔. วิหรติ แปลว่า อยู่ อยู่ด้วยอำนาจแห่งธรรม คือความเพียร สติ สัมปชัญญะ

    ถ. ข้อว่า พหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ นั้น แปลและหมายความว่าอย่างไร?

    ต. แปลว่า มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ในภายนอกอยู่ หมายความว่าดังนี้คือ


    ๑. พหิทฺธา ในภายนอก ได้แก่ ธรรมของคนอื่น คือขันธ์ของคนอื่นนนั่นเอง
    ๒. ธมฺเมสุ ในธรรมทั้งหลาย ได้แก่ขันธ์ ๕ ดังกล่าวมาแล้ว
    ๓. ธมฺมานุปสฺสี มีปกติพิจารณาเห็นธรรม ได้แก่ เห็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕
    ๔. วิหรติ แปลว่า อยู่ คืออยู่ด้วยอำนาจแห่งธรรมดังกล่าวมาแล้ว

    ถ. ข้อว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ แปลและหมายความว่าอย่างไร?

    ต. แปลว่า มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ หมายความดังนี้คือ


    ๑. อชฺฌตฺตพหิทฺธา แปลว่าทั้งภายในทั้งภายนอก ได้แก่ บางครั้งพิจารณาเห็นขันธ์ของตน บางครั้งพิจารณาเห็นขันธ์ของคนอื่น
    ๒. ธมฺเมสุ ในธรรมทั้งหลายได้แก่ขันธ์ ๕
    ๓. ธมฺมานุปสฺสี มีปกติพิจารณาเห็นธรรม ได้แก่เห็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕
    ๔. วิหรติ แปลว่า อยู่ คืออยู่กับพระกรรมฐาน
    ถ. ข้อว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น เป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมได้ลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐานเห็นความเกิดดับของรูปนาม คือปฏิบัติจนถึงอุทยัพพยญาณ เป็นต้นแล้ว

    ถ. ข้อว่า มีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ธรรมมีอยู่นั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ธรรมคือ รูปนามมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขาทั้งสิ้น

    ถ. ข้อว่า สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าระลึกได้นั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นปฏิบัติถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว

    ถ. ข้อว่า ไม่มีอะไรๆ อาศัยอยู่นั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิอาศัยอยู่ เพราะละได้ด้วยอำนาจแห่งตทังคปหาน วิกขัมภนปหานและสมุจเฉทปหาน

    ถ. ข้อว่า ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ไม่ยึดมั่นรูปนามว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เพราะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้แล้ว

    ถ. กำหนดขันธ์ ๕ จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างไร?

    ต. จัดเป็อริยสัจ ๓ ได้อย่างนี้คือ


    ๑. ขนฺธปริคฺคาหิกา สติ ทุกฺขสจฺจํ สติที่กำหนดรู้ขันธ์ จัดเป็นทุกขสัจ
    ๒. ตสฺสา สมุฏฺฐาปิกา ปุริมตณฺหา สมุทยสจฺจํ ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสตินั้นให้เกิดขึ้นจัดเป็นสมุทยสัจ
    ๓. อุภินฺนํ อปฺวตฺติ นิโรธสจฺจํ ทุกข์กับสมุทัยดับลงไป จัดเป็นนิโรธสัจ
    ๔. ทุกขปริชานโน สมุทยปชหโน นิโรธารมฺรโณ อริยมฺโค มคฺคสจฺจํ อริยมรรค กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ จัดเป็นมัคคสัจ
    ถ. กำหนดขันธ์ ๕ จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างไร?

    ต. จัดเป็นอริยสัจ ๓ ได้อย่างนี้คือ


    ๑. ขนฺธปริคฺคาหิกา สติ ทุกฺขสจฺจํ สติที่กำหนดรู้ขันธ์ จัดเป็นทุกขสัจ
    ๒. ตสฺสา สมุฏฺฐาปิกา ปุริมตณฺหา สมุทยสจฺจํ ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสตินั้นให้เกิดขึ้นจัดเป็นสมุทยสัจ
    ๓. อุภินฺนํ อปฺปวตฺติ นิโรธสจฺจํ ทุกข์กับสมุทัยดับลงไป จัดเป็นนิโรธสัจ
    ๔. ทุกขปริชานโน สมุทยปชหโน นิโรธารมฺมโณ อริยมฺโค มคฺคสจฺจํ อริยมรรค กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ จัดเป็นมัคคสัจ

    ถ. ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเห็นธรรมในธรรมได้เต็มที่แล้วหรือยัง มีอะไรเป็นหลักอ้าง?

    ต. ชื่อว่าเห็นธรรมในธรรมได้เต็มที่แล้ว มีพระบาลี มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นหลักอ้างว่า


    เอวมฺปิ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ
    ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฎฎสงสารมีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คืออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ โดยประการดังที่ได้บรรยายมานี้

    วันนี้ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยขันธ์ ๕ มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 ธันวาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...