ของดีมีในศาสนาพุทธ : พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 20 ตุลาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    กายนี้เป็นบ่อเกิดของธรรมทั้งหลาย

    กายนี้จะพิจารณาให้เป็นฌานก็ได้ ให้เป็นสมาธิก็ได้ ให้เป็นวิปัสสนาก็ได้ สุดแท้แต่ผู้นั้นจะมีอุบายแยบคายเชี่ยวชาญทางไหน กายนี้ได้ชื่อว่าเป็นก้อนธรรมก้อนหนึ่ง เป็นคัมภีร์ทรวง เป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ เป็นต้นตอบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีกายอันนี้เสียแล้ว พุทธศาสนาจะเกิดได้อย่างไร ศีล สมาธิ ปัญญา จะเอาไปประดิษฐานไว้ที่ไหนเมื่อมีกายอันนี้แล้วพระพุทธศาสนาจึงได้ประดิษฐานตั้งลงที่กายนี้ ใครต่างคนก็ได้นำเอาไปปฏิบัติตามกำลังแก่ความต้องการของตนๆ พระพุทธศาสนาเป็นของสากล มนุษย์ชาวโลกนี้มีใจเกิดขึ้นในที่ใดแล้วก็มีกิเลสหุ้มห่อในใจของมนุษย์ในที่นั้น พระพุทธเจ้าจึงอุบัติขึ้นในที่นั้นแล้วจึงได้บัญญัติพระพุทธศาสนาลงที่กาย วาจา และใจของมนุษย์เหล่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว แต่ธรรมคำสอนของพระองค์ที่ยังเหลืออยู่ในหัวใจของมนุษย์เหล่านั้น ผู้มีศรัทธาก็ปฏิบัติกันต่อไป ต่อเมื่อมนุษย์ในโลกนี้ทั้งหมดไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หรือใจมนุษย์ไม่มีมาเกิดในโลกนี้อีกนั่นแหละพระพุทธศาสนาจึงจะหมดไปจากโลกนี้

    พระพุทธศาสนาเป็นของสากลอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติในโลกนี้ก็ดี หรือจะไม่มาอุบัติในโลกนี้ก็ดี ธรรม คือ อกุศลและกุศล หากเป็นของมีอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไร ความนิยมสมมติว่าเป็นนั้นเป็นนี้ต่างหากมีอยู่ในโลก ผลที่สุดสังขารคือการปรุงแต่งเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น ผู้ถือว่าเราถึงธรรมได้ ธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ผู้นั้นยังมีความอยากอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงธรรมได้อย่างไร ท่านว่าเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม


    ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านย่อมคิดค้นมูลเหตุแห่งกิเลสหรืออกุศลเครื่องเศร้าหมองในใจของตน จนเห็นแจ้งประจักษ์ด้วยใจของตน แล้วหาวิธีกำจัดให้หมดสิ้นไปด้วยตนเอง ท่านไม่เพ่งโทษของคนอื่น กิเลสของคนอื่น เหมือนพวกเราเหล่าพุทธบริษัทในสมัยนี้ ท่านทำเพื่อความสงบสุขแห่งขันธโลกของท่าน เพราะกิเลสในขันธโลกของท่านอันนี้มันทำให้ท่านทนทุกข์ทรมานมานานแสนนานแล้ว ท่านเข็ดหลาบพอแล้ว
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมาธิเอาธาตุเป็นอารมณ์

    การทำสมาธิจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ของสมาธิก็ได้ ดังอธิบายมาแล้ว ขอแต่ให้ทำใจให้แน่วแน่เป็นอันหนึ่งก็แล้วกัน เรียกว่าทำสมาธิทั้งนั้น ในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกเอากายก้อนนี้มาเป็นอารมณ์ของการทำสมาธิ เพราะกายก้อนนี้ประกอบด้วยกรรมฐานหลายอย่างมี จตุธาตุวัฏฐาน และ อสุภกรรมฐาน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวช เป็นเหตุให้เกิดกรรมฐานทั้งนั้น พิจารณากายก้อนนี้ให้เป็นก้อนดิน แทนที่จะเพ่งให้เป็นดินอย่างเดียวไม่ต้องเป็นอย่างอื่น เช่น ฌานที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ต้องพิจารณาให้เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม มีอยู่พร้อม ๆ กัน ว่าสิ่งทั้ง ๔ อย่างนี้ต้องมีอยู่พร้อมกันในที่ทุกสถานทุกกาล เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งทั้งสามนั้นก็ต้องมี จะเป็นมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ก้อนหิน ภูเขาและสิ่งอื่น ๆ ก็ตามเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ ถ้าเป็นของมีวิญญาณเคลื่อนไหวได้ ก็ต้องเคลื่อนไหวกลิ้งไปตามอัตภาพของตัวเอง ( คือหากิน )

    ก้อนดินเหล่านี้มีลักษณะต่าง ๆ กัน บางก้อนมีสีสันลักษณะขาว ดำ แดง บางก้อนก็มีรูปพรรณสวยสดงดงามน่าดูชม บางก้อนก็กระปุ่มกระป่ำขรุขระ ขาดวิ่น หักงอไม่น่าดู ก้อนดินทั้งหลายเหล่านี้ทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปในโลก ถ้าทำสมาธิให้จิตเป็นกลาง ๆ แล้ว จะเห็นของเหล่านี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของมันต่างหากนอกจากตัวของเรา แล้วจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นพร้อมด้วยตัวของเราเป็นของน่าสลดสังเวช ว่าเกิดมาด้วยธาตุทั้งสี่ แล้วก็กลิ้งเกลือกไปมาอยู่ในโลกนี้ แล้วก็ดับสลายไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย เกิดขึ้นมาได้ก้อนดินอันนี้แล้ว จึงควรทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ตายดีกว่าที่จะให้มันตายไปเปล่า ๆ โดยมิได้ทำประโยชน์อะไรเลยไว้ในโลก
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมาธิมีอสุภเป็นอารมณ์

    สมาธิเอาอสุภเป็นอารมณ์ กายก้อนนี้ทั้งก้อนเป็นอสุภของเปื่อยเน่าน่าเกลียดทั้งสิ้น แต่มิใช่น่าเกลียดอย่างฌานที่พิจารณาจนเห็นเป็นอสุภโดยส่วนเดียวจนเกิดปฏิภาคนิมิตให้เห็นเป็นอสุภเปื่อยเน่าน่าเกลียดจนสะอิดสะเอียนในใจเกือบรับประทานอาหารไม่ได้เลย แต่ให้พิจารณาให้เป็นของปฏิกูลธรรมดา ๆ นี้เอง แต่มันเห็นชัดด้วยตาในว่า กายนี้ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ถ้าไม่มีหนังหุ้มอยู่แล้วก็มีเลือดไหลเอิบอาบไปหมด แมลงและมดก็จะไต่ตอมดูดกินเป็นอาหารซึ่งเป็นของน่าเกลียดและน่ากลัวแก่คนทั้งหลายมาก แม้แต่น้ำมูตรและน้ำลายก็เช่นกัน เมื่อบ้วนออกมาภายนอกแล้วจะกลืนเข้าไปอีกย่อมไม่ได้ จะถูกอวัยวะร่างกายก็ต้องล้างหรือเช็ดให้สะอาดเป็นของสกปรกน่าเกลียดจริง ๆ แต่เมื่อเรารับประทานอาหารหรือสิ่งต่าง ๆเข้าไป มันก็ต้องคลุกด้วยน้ำลายนี้เสียก่อนจึงจะกลืนเข้าไปได้ท่านแสดงไว้ว่าเปรตบางชนิดกินน้ำมูตรน้ำลายของตนเองเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เห็นจะเป็นคนเรานี้กระมัง
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมาธิเอาความตายเป็นอารมณ์

    สมาธิมีมรณะเป็นอารมณ์ มรณะคือความตายพิจารณาความตายเป็นอารมณ์แล้ว ถ้ายังไม่ลงเป็นสมาธิแล้วก็หมดกรรมฐานเท่านั้น เพราะมนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่าที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนแต่หวงแหนรักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ชีวิตเป็นที่ปรารถนาของสัตว์เหล่านั้น เมื่อพิจารณาถึงความตายว่า ชีวิตไม่มีแก่นสารเหมือนกับขอยืมเขามาใช้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องเอาไปคืนเขา ( แต่ก็อย่าลืมว่า "ผู้ยืม" ยังมีอยู่ ต้องยืมของคนอื่นเขามาใช้อีกต่อไป ผู้เกิดมาแล้วต้องเป็นหนี้ของโลกอย่างนี้ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด )

    ชีวิตเป็นของสาธารณะ เกิดขึ้นมาจากธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ตายแล้วก็กลับไปเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่า ไม่มีใครเอาติดตัวไปได้สักอย่างเดียว นอกจากความดีความชั่วที่ตนทำไว้ติดอยู่ที่ใจเท่านั้นที่จะติดตามตนไปข้างหน้า ฉะนั้น คนเราเกิดมาเหมือนกับไปยืมของคนอื่นเขามาเกิด ตายแล้วก็ส่งกลับคืน มาเกิดอีกก็ยืมมาใหม่ดังนี้อยู่ไม่จบรู้สิ้นสักที ขออย่าลืมผู้ไปยืมของเขามาเกิดยังมีอยู่ จึงต้องไปยืมของเขาร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อพิจารณาอย่างนี้มันเป็นการขู่จิต จิตก็จะหดตัวลงพิจารณาตัวเอง เห็นตามนั้นแล้วรวมเป็นสมาธิ สลดสังเวชนิ่งอยู่ด้วยความสงบ จิตนิ่งเป็นเอกัคคตาอันเดียวอยู่ แต่บางคนมันตรงกันข้าม ดังผู้เขียนได้ยินมาว่า มีคนบางคนเบื้องต้นเป็นผู้มีศรัทธามีเงินมากพอสมควร มีคนรู้จักหน้าตามาก ตอนแก่พึ่งตนเองไม่ได้ต้องอาศัยคนอื่นช่วยรักษา หลง ๆ ลืม ๆ แต่เรื่องเงินทองไม่ยักลืมกำลูกกุญแจอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งมือที่กำลูกกุญแจนั้นเน่า ใครจะพูดว่าอย่างไรแกไม่เชื่อทั้งนั้นกลัวเงินจะหาย เท็จจริงอย่างไรขอผู้อ่านพิจารณาเอาเอง ผู้เขียนเป็นผู้อื่นนำมาเล่าสู่กันฟัง
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมถะและสมาธิกลับกันได้

    วิธีฝึกหัดสมาธิโดยยึดเอาธาตุ ๔ - อสุภ และมรณสติเป็นอารมณ์ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นต้น พอเป็นตัวอย่าง เป็นการฝึกสมาธิล้วน ๆ มิได้เจือปนไปด้วยฌานเลย แต่สมถะคือฌานมันกลับกันได้กับสมาธิเหมือนกัน เหมือนฝ่ามือกับหลังมือ เพราะฝึกหัดจิตตัวเดียวกัน อุบายอย่างเดียวกัน แต่แยบคายมันต่างกันความมุ่งหมายก็ต่างกัน ผลที่ได้รับก็ต่างกันอยู่บ้าง เช่นการเพ่ง จตุธาตุววัฏฐาน สมถะเพ่งเอาแต่ดินเป็นอารมณ์อย่างเดียวจนจิตสงบ ไม่ต้องหาเหตุผลสิ่งแวดล้อม แต่สมาธิต้องเพ่งพิจารณาถึงเหตุผลความเป็นมาและความเป็นไปของสิ่งนั้น ๆ ในขณะที่เพ่งพิจารณาความเป็นมาและความเป็นไปอยู่นั่นแหละ สติเผลอแวบเดียวจิตรวมเข้าภวังค์เป็นฌานไป ผู้ที่มีนิสัยเคยได้อบรมมาก่อน ก็จะไปรู้ไปเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นต้นว่าไปรู้ภพรู้ชาติก่อนว่าเคยทำอะไรไว้และเป็นอะไรมาแต่ก่อน เป็นต้น แล้วจิตก็หลงเพลินไปตามความรู้อันนั้น เรียกว่า เพ่งพิจารณาสมาธิ เผลอสติเลยกลับเป็นฌานไปฉิบ

    ผู้ที่มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมมีนิสัยเคยพิจารณาของพรรค์นั้นมาแล้วแต่ก่อน ในขณะที่สติเผลอแผล็บเดียวเป็นฌานไปรู้สิ่งต่าง ๆ ดังอธิบายมาแล้ว กลับรู้เท่าได้ทันทีว่า อ๋อ ความรู้อันนี้มิใช่ความพ้นจากทุกข์เป็นความรู้ให้ติดอยู่กับกองทุกข์ เป็นเครื่องส่องให้ได้ความรู้เห็นตามเป็นจริงของวัฏฏะเท่านั้น แล้วก็ไม่หลงตามมัน พิจารณาความรู้สิ่งต่าง ๆ เห็นเป็นวัฏสงสารน่าเบื่อหน่าย เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องเวียนว่ายวนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงควรทำตัวของเราให้หลุดพ้นเสียดีกว่า นี่เรียกว่าทำจิตที่เป็นฌานให้กลับเป็นสมาธิ


    ในขณะที่เพ่งธาตุ ๔ หรือ เพ่งเอาแต่จิตอันเดียว เพื่อให้จิตรวมเข้าเป็นภวังค์อยู่นั้น จิตบางขณะจะพลิกออกไปพิจารณาพระไตรลักษณ์ จนเห็นว่าจิตนี้เป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวก็อยู่ในอำนาจของเรา เดี๋ยวก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา จิตนี้จึงเป็นของไม่ควรยึดถือ แล้วปล่อยวาง ทำจิตให้เป็นกลาง ๆ ไม่ยึดเอาอดีต อนาคตมาเป็นอารมณ์ วางจิตให้เป็นกลาง ๆ ในอารมณ์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีและชั่ว หยาบและละเอียด ทุกข์และสุข สรรเสริญและนินทาก็ตาม ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทำความรู้อยู่ว่าจิตมันเป็นกลางอย่างนี้ เรียกว่าเพ่งฌานจิตกลับเป็นสมาธิไป
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ความรู้เกิดจากฌาน

    ในขณะที่เพ่งรูปธรรมมีธาตุ ๔ เป็นต้น หรือเพ่งนามธรรมมีจิตเป็นต้น โดยมิได้พิจารณาเรื่องอื่น นอกจากจิตอย่างเดียว เมื่อจิตน้อมเข้าสู่ความสงบสุขอย่างเดียว แล้วจิตจะขาดสติวูบเข้าภวังค์ บางทีก็รู้ตัวหรือพอสะลึมสะลือ ๆ บางทีก็จะหายวับไปเลย ไปรู้เรื่องของมันเองอยู่ต่างหาก ถ้าผู้มีนิสัยวาสนาได้เคยทำมาแต่ก่อนอาจไปเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นต้นว่า ชาติก่อนได้เคยเป็นอะไร และได้กระทำอะไรไว้ในที่นี้หรือที่โน้น เคยได้เป็นศิษย์และอาจารย์ เคยได้เป็นบิดามารดา บุตร ธิดา เคยได้เป็นสามีภรรยาและมิตรสหายซึ่งกันและกันเป็นต้น

    ฌาน เมื่อจะเกิดความรู้และเห็นจะต้องจิตเข้าถึง ภวังคจลนะ เสียก่อนจึงจะเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้างตามวิสัยของปุถุชน แล้วก็เสื่อมเร็วเพราะมีการส่งออกไป จับเอาอารมณ์ภายนอกเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้น ฌานและอภิญญาจึงเป็นของไม่ควรประมาท บางคนถือว่าตนเก่งแล้วฉิบหายไม่รู้ตัวมีมากต่อมากแล้ว ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายมักหลงในฌานเป็นส่วนใหญ่ พอจิตรวมเข้าเป็นฌานเกิดความรู้นั้นนี้ต่าง ๆ นานา ก็เข้าใจว่าตนถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว หรือพอจิตรวมเข้านิ่งเฉยไม่มีอารมณ์อะไรเพราะ ไม่มีปัญญา พิจารณาไม่ได้ก็เข้าใจว่าตนหมดกิเลสแล้วคราวนี้ระฆังมักดังขึ้นเอง
    สมาธิเมื่อจะเกิดอภิญญา จิตของท่านจะเข้าถึง อุปจารสมาธิ เสียก่อน จึงจะรู้จะเกิดขึ้น และเมื่อรู้ก็มิได้ตื่นเต้นด้วยเหตุนั้น ๆ รู้อยู่ดี ๆ เหมือนรู้เห็นของภายนอกนี้เอง แล้วนำเอาความรู้ความเห็นอันนั้นมาพิจารณาถึงเหตุผลสิ่งที่ควรและไม่ควรอีกทีหนึ่งก่อนแล้วจึงปลงใจเชื่อ ไม่เหมือนกับความรู้ในฌาน ความรู้ในฌานเมื่อเห็นอะไรรู้อะไรแล้วมักจะหลงเชื่อเอาทั้งหมดเหตุนั้นจึงมักพลาด ผู้ฝึกหัดสมาธิโดยมากท่านฝึกหัดสมาธิเพื่อความพ้นทุกข์ อภิญญาเป็นเพียงเครื่องประกอบเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วท่านไม่ใช้เลย

    บางทีหลงเพลินไปเห็นชั้นเทพชั้นพรหมแล้วคิดสนุกอยากขึ้นไปอยู่ชั้นพรหมโน่น เวลากลับมาอยู่ในมนุษย์มีเด็กมีสามเณรมาปฏิบัติ คิดสนุกขึ้นมาก็พิจารณาเด็กหรือสามเณรที่ปฏิบัติอยู่นั้นให้เป็นทองคำเหลืองอร่ามไปหมดเลย แล้วก็กระหยิ่มอยู่คนเดียวเมื่อเพ่งจิตเข้าสู่ภวังคจลนะแล้วจิตนี้จะปรุงต่าง ๆ นานา ทำให้ผู้ไม่มีสติหลงไปตามได้ง่ายในผลที่สุดก็เสื่อมได้เพราะมันเป็นโลกิยฌาน แต่บางคนก็อยู่ได้นาน ๆ หรือไม่เสื่อมเลย แต่บุคคลนั้นสติไม่ดี พลั้ง ๆ เผลอ ๆ ถ้าเป็นฆราวาสทำได้ขนาดนั้นก็นับว่าเป็นโชคของเขาแล้ว แต่ถ้าเป็นพระแล้วไม่ควรอย่างยิ่งและจะแก้นั้นยากนัก พวกนี้มีความเห็นดิ่งไปหน้าเดียวถ้าแก้ไม่ถูกจุดก็จะถือรั้นอยู่อย่างนั้นร่ำไป ถ้าผู้เคยเป็นมาด้วยกัน แก้ถูกจุดเข้า แผล็บเดียวเท่านั้นก็จะหายทันที

    ถ้าผู้มีสติแล้วเพ่งพิจารณารูปธรรมและนามธรรมนั้นด้วยสติรอบคอบว่า รูป-นามนี้เป็นของมีอยู่ประจำในตัวของคนเราทุกคน เกิดมาเป็นคนแล้ว ดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องได้ครบบริบูรณ์ ไม่ต้องไปหาที่ไหนมาอีก แต่ที่มีอยู่แล้วก็มากเหลือหลาย เหลือที่จะบริหารเลี้ยงดูให้พอแก่ความต้องการของเขาแล้ว ไหนจะอาหารภายนอกมีข้าวปลาอาหารเป็นต้น วันหนึ่ง ๆ หมดไปเท่าไร อาหารภายในจะต้องหาให้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจอีกด้วยไม่รู้จักอิ่มจักพอเป็นสักที สิ่งเหล่านี้ก็เกิดจากรูป และนามทั้งนั้น ของทั้งสองอย่างนี้ประสมกันแล้วย่อมหมุนเป็นไปตามโลกหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ผู้มีสติปัญญามาพิจารณาเห็นชัดแจ้งด้วยปัญญาของตนแล้ว ประมวลเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามารวมลงในจิตแห่งเดียวว่าเกิดจากจิตอันเดียว ถ้าจิตไม่มีแล้วสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีไม่เกิด เพราะฉะนั้นพึงรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจของตน อย่าได้ส่งไปเกาะเกี่ยวในสิ่งภายนอกและนอกจากจิตของตนบางกาลบางเวลา เมื่อรักษาจิตของตนได้อย่างนี้แล้ว จิตก็ไม่เป็นไปตาม อำนาจของกิเลส ต่อนั้นก็เห็นหน้าตาของกิเลสชัดขึ้น เมื่อมองเห็นกิเลสทุกระยะทุกเวลาอยู่อย่างนี้ จิตก็จะรวมเข้ามาเป็นใจ รู้ว่าเรานิ่งเฉยอยู่ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อาการอย่างนี้จะให้อยู่ได้นานสักเท่าใดก็ได้
    จิตนี้มักส่งนอกเป็นธรรมดา ฉะนั้น การฝึกหัดสมาธิโดยใช้กายและใจเป็นอารมณ์เป็นกรรมฐาน จึงเหมาะที่สุด ที่จะให้เห็นตนและได้ละจากตนจาก อัตตานุทิฏฐิ เพราะอัตตานุทิฏฐินับว่าเป็นภัยใหญ่หลวงของผู้ฝึกหัดสมาธิ ผู้เห็นตัวตนของเราเป็นแต่ว่าธาตุ เป็นอสุภ เป็นตัวตายจึงละอัตตานุทิฏฐิได้มากทีเดียว เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้นนาน ๆ หนักเข้าจะชัดแจ้งด้วยปัญญาในใจของตนเอง แล้วจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเอง จิตจะละถอนปล่อยวางโดยอัตโนมัติแล้วรวมเข้ามาอยู่ในใจ รู้ตัวอยู่ว่าไม่มีที่ไปอีก แล้ววางเฉยเป็นกลางในระหว่างสิ่งทั้งปวง
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ตามรู้จิต ไม่อยู่ รู้เท่ารู้ทันจิตจึงอยู่

    จิต ผู้คิดปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ เหลือที่จะคณานับ บางทีก็เป็นประโยชน์ บางทีก็ไร้ประโยชน์ ทำให้เกิดสับสนวุ่นวายไม่สบายใจของผู้คิดนึกเป็นอันมากเหมือนกัน จิตที่คิดนึกเอาแต่อารมณ์อันเดียวจนแน่วแน่ที่เรียกว่า สมาธิ อันนั้นย่อมเกิดปัญญาพิจารณาหาเหตุผลว่าสิ่งนี้ควรทำแลไม่ควรทำ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ต้องทำสมาธิให้หนักแน่น จับตัวผู้รู้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงจะรู้เท่าอาการของจิตที่นึกคิดไปในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งไม่มีขอบเขต ถ้าทำสมาธิไม่หนักแน่น จับตัวผู้รู้ไม่ได้ จิตผู้คิดนึกนั้นจะเตลิดเปิดเปิงไปไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ นั่นมิใช่ปัญญา แต่เป็นสัญญาของสามัญชนทั่วไป จึงมีคำเรียกว่า ตามรู้จิตไม่ถึงตัวจิตสักที เหมือนกับคนตามรอยโค ต้องรู้เท่ารู้ทันตัวจิต จิตจึงจะอยู่แล้วรวมเข้ามาเป็นใจ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉย ๆ ไม่มีการปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมาธิเมื่อฝึกหัดถูกแล้วย่อมรวมเป็นหนึ่งได้

    การฝึกหัดสมาธิไม่ว่าจะฝึกหัดแบบไหน วิธีอย่างไร หรือลัทธิอะไรก็ตามถ้าตั้งจิตให้ถูก คือ ความบริสุทธิ์ของใจแล้ว จะต้องทำใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่ให้มีกิเลสอะไรเจือปนในใจก่อน เมื่อจิตเป็นกลางอยู่เฉย ๆ แน่นอนที่สุดจิตของปุถุชนคนเราจะต้องแส่ส่ายหากิเลสมาประสมใจ ซึ่งใช้อายตนะทั้งหกเป็นสื่อสัมพันธ์ทั่วทั้งโลกเข้ามาประสมกับจิตของตน ผู้ฝึกหัดจิตของตนให้เข้าถึงใจที่เป็นกลางแล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่า กิเลสที่มาหุ้มห่อจิตทั้งหมดนั้นเกิดจากจิตไปแสวงหามาทั้งนั้น เกิดมาในกามภพหมกมุ่นอยู่กับกามกิเลส กิเลสเหล่านั้นล้วนแต่มีกิเลสกามเป็นมูลฐาน เกิดมาเป็นคนต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอด จะเพื่อตนเองและคนอื่นก็ตาม ล้วนแต่มีกามเป็นพื้นฐานจึงจะทำได้ แม้จะบวชเป็นบรรพชิตก็ตาม กามย่อมติดตามอยู่เสมอ จะเห็นได้จากบางท่านบางองค์ประพฤติตนไปในทางกามกิเลส เห็นได้เลยว่าประพฤติตนมิใช่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ หมกมุ่นอยู่แต่ในกามกิเลสตลอดเวลาที่เป็นบรรพชิตเพราะไม่ได้ฝึกหัดจิตของตนเพื่อให้พ้นจากเครื่องเศร้าหมอง จึงไม่เห็นจิตที่เป็นกลางวางเฉยได้ แบกแต่ภาระหนักอยู่ร่ำไป

    นักฝึกหักจิตทำสมาธิให้แน่วแน่เป็นอารมณ์หนึ่งแล้ว จะมองเห็นกิเลสในจิตของตนเองทุกกาลทุกเวลาว่า มีกิเลสหยาบและละเอียดหนาบางขนาดไหนเกิดขึ้นที่จิต เกิดจากเหตุอะไร และจะต้องชำระด้วยวิธีอย่างไรจิตจึงจะบริสุทธิ์ผ่องใส ค้นคว้าหากิเลสของตนเองอยู่ทุกเมื่อ กิเลสก็จะหมดสิ้นไป จิตก็จะผ่องใสขึ้นตามลำดับ ผลที่สุดจิตที่วุ่นวายทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีกามกิเลสเป็นมูลฐาน กิเลสก็เกิดขึ้นที่จิต จิตนี้เป็นผู้ไปแสวงหามา เมื่อจิตหยุดแสวงหา จิตก็รวมเข้ามาเป็นใจ คือตัวกลาง ๆ วาง เฉย และรู้ตัวว่าวางเฉย นั่นแลเป็นที่สุดของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอันนี้ สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "แม่น้ำน้อยใหญ่ย่อมไหลลงสู่มหาสมุทร เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมมีรสชาติเค็มเป็นอันเดียวกัน ธรรมะของเราตถาคตก็เช่นนั้นเหมือนกัน "
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมาธิโดยพิจารณาขันธทุกข์เป็นอารมณ์

    ก้อนทุกข์อันนี้นับแต่ประสมเป็นขันธ์ ๕ เข้าด้วยกันแล้ว มีการแสดงเรื่องทุกข์เรื่อยมาไม่มีเวลาจบสิ้นสักที ตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์เป็นน้ำมันใส ๆ แปรมาเป็นเลือดและก้อนเลือด แตกมาเป็นปัญจขันธ์ ๕ แห่ง อันได้แก่ แขน ๒ ขา ๒ ศีรษะ ๑ จนคลอดออกมาเป็นมนุษย์ ทีแรกออกมาน้ำหนักไม่กี่กิโลกรัมแล้วก็แสดงความทุกข์เติบโตมาโดยลำดับ ทนสภาพอยู่ไม่ได้จึงแปรปรวนมาเป็นขั้นตอน อันแสดงถึงของไม่เที่ยงคงอยู่อย่างเดิมไม่ได้ สิ่งสารพัดในโลกนี้ไม่มีใครบังคับให้อยู่ในอำนาจของตนได้ ย่อมเป็นไปตามธรรมดาของมัน ใครจะดีใจเสียใจ เป็นทุกข์และเป็นสุขในสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก็หาได้เอื้ออาทรกับคนเหล่านั้นไม่ ข้ามีหน้าที่เป็นไปอย่างไร ข้าก็ทำหน้าที่ของข้า คล้ายกับจะบอกให้รู้ว่า เธอหลงโง่ต่างหากจึงมาหลงถือเอาตัวของข้าว่าเป็นตัวตน จึงต้องเป็นทุกข์ตลอดกาล สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในภารสุตตคาถา โดยเนื้อความว่า ปัญจขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์จริง ๆ มิใช่ไม่จริง นับแต่ธาตุ ๔ ประชุมกันเป็นก้อนอุบัติขึ้นมาในครรภ์ของมารดาแล้ว จำเป็นจะต้องเป็นภาระของมารดาทุก ๆ อย่าง เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว มารดาและพี่เลี้ยงนางนมจะประคบประหงมเลี้ยงให้เติบโตมาโดยลำดับ จนกระทั่งเติบโตพึ่งตนเองได้ วิ่งเล่นกับเพื่อนได้ ก็ยังต้องอยู่ในสายตาของมารดาตลอด เหมือนแม่วัวเลี้ยงลูกฉะนั้น ทุก ๆ คนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องยอมรับว่าเป็นภาระจริง ๆ แต่สัญชาตญาณของมนุษย์คนเราก็ยังยึดถือเอาภาระนั้นไว้เพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเลี้ยงดู เป็นต้น ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะไม่ได้มีชีวิตอยู่สร้างความดีต่อ ไปแท้จริงการเข้าไปยึดถือเอาของในโลกทั้งหมดมันเป็นความทุกข์ ฉะนั้น การปล่อยวางภาระเสียได้ "ด้วยแยบคายภายใน" มันเป็นความสุขอย่างยิ่ง ครั้นปล่อยวางภาระอย่างหนักอันนี้ได้แล้วไม่หลงไปยึดถือเอาซึ่งภาระอย่างอื่นมาไว้อีก ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ถอนซึ่งตัณหาพร้อมทั้งมูลรากได้แล้ว และเป็นผู้หมดความกระวนกระวายหายอยาก ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ได้แล

    อันทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นอาทิเกิดมาจากขันธ์ ๕ ทั้งนั้น เมื่อมีขันธ์ ๕ แล้ว จะต้องมีทุกข์ประจำขันธ์ ๕ เช่น มีอวัยวะ เป็นต้นว่า โรคประจำแต่ละสิ่งละอย่าง มีศีรษะ มีแขน มีขา มือ เท้า ต้องมีโรคประจำในที่นั้น ๆ ให้รักษา "งูไม่มีตีนมันก็ไม่ต้องรักษาตีน ปูไม่มีหัวมันก็ไม่ต้องรักษาหัว แต่คนเป็นโรคลมให้ระวัง ถ้ารับประทานปูนา มักเจ็บหัว" ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นของมีประจำอยู่ในตัวของคนเราเป็นนิจ ต่างแต่มันจะกำเริบมากหรือน้อยเท่านั้น ถ้ามันกำริบมากก็ทุกข์มาก ถ้ามันกำเริบน้อยก็ทุกข์น้อย ทุกข์อีกอย่างหนึ่งเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องมีจะต้องสร้างให้เกิดให้มีขึ้น ถ้าไม่สร้างให้เกิดมีขึ้นก็อยู่ร่วมกับเขาไม่ได้ นั่นคือการแสวงหาปัจจัยชาติทั้งสี่ คือ อาหารเครื่องเลี้ยงชีวิต ๑ เครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกายกันเย็นและหนาว ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหามาไว้ในเมื่อจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่บางคนหามาเหลือใช้เก็บสะสมไว้จนไม่มีที่เก็บ ขายเอาเงินทองมาไว้ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์มากขึ้นอีกแสนทวีคูณ นี่เรียกว่า ปริเยสิกทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา ยังมีทุกข์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่าทุกข์จรมา ได้แก่ ถูกหนามตำ ยอกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย ถูกตีต่อยจากศัตรูภายนอก โรคภัยรุมล้อม เป็นอัมพาตอัมพฤกษ์มือตายเท้าตายไปไหนไม่ได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้น
    เรียกว่ากายก้อนนี้เราได้มา คือ ได้ก้อนทุกข์มิใช่ของดีอะไรเลย การเคลื่อนไหวของกายทุกอิริยาบถมันเคลื่อนไหวเพราะมันอยู่ไม่ได้จึงเคลื่อนไหว แต่มันเคลื่อนไหวก็มิใช่มันจะเคลื่อนไปเพราะหาความสุขแต่มันเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนความทุกข์ เปลี่ยนทุกข์จากนั่งนานเปลี่ยนไปเป็นยืน เปลี่ยนจากยืนไปเป็นนอน แม้แต่นอนหลับอยู่ก็ยังพลิกตนเองได้ ตกลงว่าเกิดมาในโลกนี้มีแต่ทุกข์ทั้งสิ้น หาความสุขไม่มีเลย จะมีความสุขแต่เฉพาะผู้ที่หลงทุกข์เอาเป็นสุขเท่านั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "โลกอันนี้นอกจากทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอะไรทั้งสิ้น"
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เพราะสมาธิเป็นหลัก ทุกข์จึงกลายเป็นทุกขสัจ

    พิจารณากายอันนี้ มีอสุภเป็นต้น มีขันธ์๕ เป็นปริโยสาน ล้วนแต่รวมลงสู่ทุกข์ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่วหนักเข้า ๆ จึงกลายเป็นทุกขอริยสัจ เพราะมีสมาธิเป็นหลักแน่นหนาไม่หวั่นไหวเห็นทุกข์อันนี้เป็นทุกข์จริงใครจะว่าเป็นอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้ เป็นของจริงของแท้ไม่แปรผัน เกิดมาในโลกนี้มีแต่ทุกข์ล้วน ๆ ไม่มีสุขเลย ที่ว่าสุข ๆ นั้นเพราะบุคคลนั้นหลงทุกข์เห็นเป็นสุขต่างหาก ดังการเปลี่ยนอิริยาบถทั้งสี่ เพราะเป็นทุกข์จึงเปลี่ยนอิริยาบถนั้น ๆ เปลี่ยนเพราะทุกข์มากจึงต้องเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อให้ทุกข์มาก ๆ นั้นบรรเทาน้อยลง มิใช่เพื่อให้ทุกข์นั้นหายไป

    การประกอบอาชีพทุก ๆ ประเภทและทุกแขนงรวมลงในปัจจัย ๔ หามาก็เพื่อบรรเทาทุกข์เท่านั้น กำลังแสวงหาอยู่ก็เป็นทุกข์เพราะการแสวงหา เมื่อได้มาแล้วก็เป็นทุกข์เพราะการรักษา เพราะการปรุงแต่ง เช่น การปรุงอาหารสำหรับรับประทานเป็นต้น แต่เพราะความหิวโหยและความอยาก มันจึงบังคับให้ต้องกระทำ แล้วก็เพลินกับการกระทำนั้น ๆ เสียด้วย ผลที่สุดเมื่อทำสำเร็จแล้วก็มารับประทานเพลินด้วยรสชาติอันเผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยวนั้นว่าเป็นความสุข อันที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ด้วยอาการเอามือเปิบข้าวใส่ปากเป็นต้น ล้วนแต่แสดงอาการทุกข์ทั้งนั้น ถ้าผู้มีความอิ่มทั้งทางกายและทางใจแล้ว มานั่งมองดูของผู้ที่กำลังหิวบริโภคอยู่แล้วจะเห็นเป็นสิ่งน่าขบขันมากทีเดียว คล้าย ๆ กับเขาเล่นลิเกเป็นฉาก ๆ ไปเลย ทุกข์เป็นของจริงของแท้แน่นอนไม่แปรผันเป็นอย่างอื่นไปได้เลย จึงเรียกว่าเป็นสัจจะของจริงอย่างหนึ่ง

    สมุทัยอันเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ก็เป็นสัจจะของจริงของแท้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านรับรองแล้วว่าเป็นของแท้ แต่ผู้ที่ไม่รู้อาจไม่เข้าใจเพราะสมุทัยเป็นนามธรรมเห็นได้ยาก สมุทัยเกิดจากกาม คือ ความใคร่ความพอใจในสิ่งนั้นๆ เมื่อมนุษย์เกิดมาอยู่ในกามภพและกามโลก ก็ยากที่จะเห็นตัวสมุทัย เหมือนกับควันไฟปกคลุมอยู่บนศีรษะหมดเสียแล้ว ก็ยากที่จะเห็นของภายนอกได้ แต่คนที่อยู่ภายนอกจะมองเห็นควันไฟนั้นได้ชัดเจนฉันใด คนที่เกิดอยู่ในกามโลกและกามภพนี้ก็ยากที่จะพิจารณาเห็นตัวสมุทัยได้ฉะนั้น

    กามตัณหา ความใคร่ความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนต้องการ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่าไร ก็ยิ่งปรารถนามากขึ้นโดยลำดับ ความทุกข์ก็ย่อมทวีคูณขึ้นเท่านั้น เหมือนเชือกผูกขาหมู ยิ่งดิ้นก็ยิ่งรัดแน่นเข้าจนหนังขาด เนื้อขาด จนถึงกระดูก ท่านเรียกว่าภวตัณหาความอยากเป็นอยากมีเกินขอบเขต เมื่อมีความทุกข์มากขึ้นก็ไม่ปรารถนาความทุกข์นั้น แล้วยิ่งเดือดร้อนกระวนกระวายเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเรียกว่าทุกข์เพราะอยากเป็นอยากมี ความอยากมีก็เป็นทุกข์ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็นก็เป็นทุกข์เช่นกัน ท่านเรียกว่าวิภวตัณหา ทุกข์ของโลกนี้ทั้งสิ้นย่อมอยู่ในแวดวงของกองกิเลสทั้งสามนี้ทั้งนั้น เรียกว่า สมุทัยสัจ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ เป็นของจริงของแท้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ทุกขสัจมีแก่คนและสัตว์ทั่วไป

    นิโรธที่จะสละละถอนกิเลสทั้งหมดไม่ให้เหลือหรอ จำเป็นต้องอาศัยมรรคปฏิปทาเป็นแนวทางให้จึงจะสำเร็จตามความมุ่งหมาย มรรคมีองค์ประกอบ ๘ ประการด้วยกัน คือ

    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นว่ามนุษย์เกิดมาเพราะกรรม กรรมดีกรรมชั่วมีจริง ใครทำกรรมอะไรไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ความเชื่อตรงตามเป็นจริงว่า สิ่งทั้งปวงย่อมเกิดจากเหตุจากผล ความเชื่อมั่นอันบริสุทธิ์ด้วยใจของตนเอง ไม่มีอคติทั้งสี่ มีฉันทาคติ เป็นต้น ๑


    สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ประกอบด้วยเหตุผลในใจของตนเองว่า โลกสันนิวาสนี้กอปรด้วยทุกข์ อันมีกามคุณ ๕ เป็นแก่น มีความวุ่นวายเป็นเครื่องอยู่อาศัย คิดจะหนีให้พ้นจากโลกอันนี้ด้วยอุบายอันชอบ คือ ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น ๑


    สัมมาวาจา วาจาชอบ ผู้ทำสมาธิอยู่ย่อมไม่มีวจีเภท มีแต่วิตกเท่านั้น วิตกของภายในกายของตนเอง เช่น ในขันธ์ อายตนะ มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้อง แก่ เจ็บ และตายตามสภาพของมัน เป็นต้น วิตกไปในของภายนอก เช่น มนุษย์คนเราเกิดขึ้นมาแล้วต้องวุ่นวายด้วยอาชีพ แล้วก็ต้องฉิบหายตายจากโลกอันนี้เป็นต้น ๑


    สัมมากัมมันตะ อันนี้ก็เหมือนกัน ทำสมาธิอยู่ภายในใจสงบแล้วทำไมจึงต้องไปทำการงานให้วุ่นวายการงานของมรรคต้องทำด้วยใจอย่างเดียวจึงจะถูก จัดกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้เป็นหมวดเป็นกอง จัดนิวรณ์ ๕ ออกไว้เป็นกิเลส สิ่งใดควรเก็บรักษาไว้ สิ่งใดควรกำจัดสละถอนทิ้ง


    สัมมาอาชีวะ ก็เช่นกัน เราทำสมาธิอยู่จะไปเลี้ยงชีพอย่างไร ความเป็นอยู่ชอบด้วยการพิจารณาด้วยลมหายใจเข้า-ออกจนจิตรวมลงเป็นหนึ่งนั่นแหละ จึงจะเรียกว่าเลี้ยงชีวิตชอบ หรือความเป็นอยู่ชอบ ๑

    สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือเพียรในสถานที่ทั้งสี่นี้ คือ เพียรละบาป แล้วก็เพียรบำเพ็ญบุญ เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้วก็เพียรรักษาบุญนั้นไว้ไม่ให้เสื่อมเสียไป และเพียรระวังรักษาบาปไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ๑

    สัมมาสติ รักษาสติชอบ คือให้รักษาสติให้อยู่ในสติปัฏฐานภาวนาอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องมีสติให้อยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ คือ ให้อยู่ในกาย ให้อยู่ในเวทนา ให้อยู่ในจิต ให้อยู่ในธรรม ๑


    สัมมาสมาธิ ทำสัมมาสมาธิให้แน่วแน่ในอารมณ์ของกรรมฐาน จนถึงฌาน สมาธิได้เสมอ จะเข้าออกเวลาใดก็ได้เป็นนิจ ๑
    ต้องอาศัยมรรคปฏิปทาทั้งแปดนี้ชี้ทางบอกให้จึงจะดับทุกข์สนิทสิ้นเชิงได้


    นิโรธ ความดับทุกข์ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ทั้งสองอย่างนี้ถ้าจะให้สมดุลกัน คือ สมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ นิโรธความดับทุกข์ก็ต้องเป็น ๓ เหมือนกัน คือ มรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องแบ่งออกเป็น ๓ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นกองแห่งปัญญา ๑ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็นกองแห่งศีล ๑ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็นกองแห่งสมาธิ ๑ ความเกิดและความดับแห่งทุกข์มี ๓ เท่ากัน พอดีเลย นี้เรียกว่าทุกขสัจเป็นของจริงของคนและสัตว์ทั่วไป
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สัจธรรมทั้งสี่ยังมีอยู่ มรรค ผล นิพพานย่อมไม่เสื่อมสิ้นไปจากโลก

    อริยสัจ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ใน พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระองค์ทรงแสดงความรู้ความเห็นแก่พระอริยเจ้าที่ฟังอยู่ในขณะนั้น ฟังแล้วเกิดความรู้ขึ้นในเวลานั้นท่านจึงเรียกว่า ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นของจริงของแท้ของพระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น แท้จริงแล้วของจริงของแท้ทั้งสี่อย่างนี้เป็นของที่มีอยู่แล้วประจำในโลกแต่ไหนแต่ไรมา ถึงท่านเหล่านั้นจะรู้จะเห็นหรือไม่ก็ตาม ของทั้ง ๔ อย่างนี้ย่อมเป็นอมตะอยู่นั่นเอง ถ้าจะเรียกอีกนัยหนึ่งเพื่อให้เข้าใจง่ายแก่สามัญชนทั่วไปว่า ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ก็ได้ สมกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า "พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลกนี้ก็ตาม ไม่มาตรัสรู้ก็ตาม ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม หากมีอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา" ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้วก็ตามพระพุทธองค์ก็ไม่ได้เอาธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไปด้วย เป็นธรรมนั้นไม่ปรากฏเท่านั้น ทุกข์เป็นของดีชาวโลกทั้งหลายไม่ชอบทุกข์จึงไม่เห็นธรรม พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านยกเอาทุกข์มาเป็นอารมณ์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า "ทุกข์เป็นของควรกำหนด" มิใช่ของควรทิ้ง ถึงจะทิ้งก็จะเอาไปทิ้งให้ใคร เพราะทุกคนก็มีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อยู่ในขันธ์ ๕ นี้แล้ว สมุทัยเป็นนามธรรมจึงควรคิดค้นให้เห็นตัวของมัน แล้วมันจะละทุกข์เองดอก เพราะความรู้แจ้งชัดนั้นเกิดจากจิตเป็นกลางวางเฉยไม่เข้าข้างโน้นข้างนี้แล้วจึงตัดสินนั้นเป็นธรรมแท้ จึงได้สมัญญาว่า "ธรรมศาสตร์ของโลก"
    ทุกข์เป็นของเทียบกับสุข ถ้าไม่มีทุกข์เทียบแล้วจะรู้ว่าเป็นสุขได้อย่างไร เหมือนของขาวกับของดำเป็นเครื่องเทียบเคียงกันฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "
    มกาโนภวْ โหติ" ผู้ใคร่พอใจในธรรมเป็นผู้เจริญ "ธมเทสสี ปราภโว " ผู้ชังธรรมผู้เกลียดธรรมเป็นผู้ฉิบหาย
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    วิปัสสนา

    วิปัสสนา คือการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในสิ่งสารพัดทั้งปวงในรูปกายของเรานี้ เช่นเห็นกายของเรานี้เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ให้เห็นเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม จริง ๆ ไม่ใช่เห็นเป็นดินไปหมดทั้งตัวแต่เพียงอย่างเดียว หรือเห็นเป็นไฟลุกโพลงไปทั่วร่างกายเป็นต้น การเห็นแบบนั้นเรียกว่าเห็นด้วยองค์ฌานมีปฏิภาคนิมิตเป็นรากฐาน การเห็นด้วยปัญญาวิปัสสนามันต้องมีสมาธิเป็นรากฐาน หากขาดสมาธิหรือสมาธิอ่อนแล้วและไม่เกิดวิปัสสนาเด็ดขาด สมาธิต้องแน่วแน่แล้วพิจารณาวิปัสสนาจึงจะแจ้งชัดโดยซาบซึ้งเข้าถึงจิตถึงใจโดยไม่มีกังขาในสิ่งนั้น ๆ

    การเห็นด้วยปัญญาวิปัสสนา เช่น เห็นว่าร่างกายของคนเรานี้เป็นแต่ธาตุ ๔ เห็นสิ่งที่ข้นแข็งในร่างกายนี้ทั้งหมดเป็นธาตุดิน เห็นกระดูกและของแข็งก็เป็นกระดูกอยู่ดี ๆ นี้เอง แต่มันเป็นธาตุดิน เห็นน้ำเลือดเป็นเลือดอยู่ดี ๆ นี่เอง แต่มันเป็นธาตุน้ำซึมซาบอยู่ทั่วสรรพางค์กาย ธาตุไฟคือความอบอุ่นซึ่งมีอยู่ในธาตุดินและธาตุน้ำทั่วไป เมื่อธาตุทั้งสองนั้นสลายไป ธาตุไฟก็สลายไปด้วย ธาตุลมก็เช่นเดียวกัน เมื่อคนเรายังมีชีวิตอยู่ก็มีลมหายใจเข้า-ออกระบายซาบซ่านไปทั่วทั้งร่างกายจึงอยู่ได้ ถ้าหมดลมหายใจเข้า-ออกแล้วก็ต้องตาย

    แม้แต่สิ่งภายนอก เป็นต้นว่าสัตว์สาราสิ่ง หรือ ต้นไม้ ภูเขา จอมปลวก ก็เช่นกัน ต่างแต่บางพวกมีจิตใจมีความรู้สึกเคลื่อนไหวได้ บางพวกอยู่คงที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ล้วนแต่มีธาตุ ๔ ทั้งนั้น เกิดขึ้นจากธาตุทั้งสี่ในเบื้องต้น ย่อมแปรปรวนในท่ามกลาง มีความดับสลายไปในที่สุด แล้วก็เกิดขึ้นอีก แปรปรวนในท่ามกลาง ดับลงเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่อย่างนี้ไม่รู้จักจบเสียที จิตวิญญาณอันนี้เข้ามาครองในร่าง จึงมาถือเอาว่าเป็นตัวของกู ร่างกายของกู จนเป็นเหตุให้เกิดกิเลสนานัปการจนทะเลาะวิวาทประหัตประหารฆ่ากันตายในที่สุด เห็นได้ชัดแก่คนภายนอกว่าธาตุ ๔ ทำลายกันเอง ใจผู้เกลียดโกรธไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นเป็นอนัตตาเกิดมาแล้วก็ต้องตายเป็นที่สุด การเห็นชัดเห็นจริงของวิปัสสนา เมื่อเห็นแล้ววางเฉยลงได้ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่เหมือนตามตำรา ตามสัญญาที่จดจำมา การเห็นเพราะการคิดนึกส่งส่ายตามอาการแล้วก็มักจะลืมง่ายต้องใช้การท่องบ่นจดจำจึงจะจำได้ การเห็นด้วยฌานมีการเพ่งอารมณ์ โดยเฉพาะมักเกิดปฏิภาคนิมิตเกินความเป็นจริง เช่น เห็นกายของคนที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอสุภเปื่อยเน่าเฟะไปเลย แล้วก็หลงว่าเป็นจริงเป็นจังเสียดายถึงกับร้องไห้ก็มี เห็นด้วยสัญญาวิปลาสก็เหมือนกัน ปัญญาวิปัสสนานี้จะเห็นด้วยการพิจารณาถึงเหตุถึงผลแล้วไม่หลงเชื่อไปหน้าเดียว เชื่อด้วยทัศนะภายนอก คือ ตาก็เห็นจริงตามความเป็นจริง เชื่อด้วยฌาน คือ ใจก็รู้เห็นตามความเป็นจริงของมัน จึงสิ้นสงสัยในสิ่งเหล่านั้น
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    วิปัสสนาต้องมีสมาธิเป็นรากฐาน

    วิปัสสนาต้องมีสมาธิเป็นหลักจึงจะเกิดวิปัสสนาได้ ถ้าหากไม่แล้วปัญญาวิปัสสนาจะไม่เกิดขึ้นเลยเด็ดขาด สมาธิตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว ปัญญาวิปัสสนาพิจารณาในธรรมนั้นๆ หรือเหตุการณ์นั้น ๆ จึงจะชัดและเห็นตามเป็นจริง ถ้าไม่มีสมาธิเป็นหลักเขาเรียกว่า "วิปัสสนึก" คือนึกตรึกตรองไปตามอารมณ์ของตนจนหาขอบเขตไม่ได้ เมื่อนึกไปจนหมดกำลังแล้วก็ไม่เกิดสลดสังเวชอะไรหรือได้อะไรเป็นสาระ ไม่สมกับคำว่าเจริญวิปัสสนาเพื่อความแก้ทุกข์ เสียเวลานั่งพิจารณาเปล่า ๆ ความจริงแล้วปัญญาวิปัสสนานั้นเราได้อบรมมาแต่เบื้องต้นโน่น ตั้งแต่บริกรรมภาวนาแต่ตอนนั้นปัญญายังอ่อน อบรมเพื่อจิตรวมเป็นสมาธิ ท่านจึงไม่เรียกว่าปัญญาวิปัสสนา แท้จริงก็ปัญญาวิปัสสนานั้นเอง ถ้าไม่ใช่ปัญญาวิปัสสนาแล้วจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิได้อย่างไร เช่น บริกรรมมรณสติว่ามรณัง ๆ ๆ พิจารณาเอาความตายเป็นอารมณ์ว่าเราต้องตายแน่แท้ จนเห็นชัดด้วยใจด้วยปัญญา นั่นแล ปัญญาวิปัสสนา แล้วจิตจึงค่อยรวมลงได้ ถ้าพิจารณากรรมฐานอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน หรือพิจารณากายอันนี้ให้เห็นเป็นทุกขัง อนิจจัง และอนัตตา เป็นทุกข์ เป็นของมิใช่ตัวตนของเรา ห้ามไม่ได้บอกไม่ฟัง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัญญาวิปัสสนาทังสิ้น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นของเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน เปรียบเหมือนคนแก่ก็เอาเด็กนั่นแหละมาแก่ มิใช่เอาคนแก่มาแก่ หรือมะม่วงสุกนั้นก็เอามาจากผลมะม่วงลูกเล็ก ๆ ซึ่งขมและฝาดอยู่ตอนนั้น แล้วจึงแก่มาเป็นมะม่วงสุกจึงหวาน วิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกันย่อมเกิดจากการบริกรรมภาวนา และพิจารณาจนเป็นขณิกสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิ แล้วจึงเข้าถึงปัญญาวิปัสสนา มิใช่ว่าจะตัดทอนเอาสมาธิไว้ตอนหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นวิปัสสนึกไปดังอธิบายมาแล้ว
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    มรรคสมังคี

    มรรคสมังคี หรือ เอกาภิสมัย เนื่องจากการบำเพ็ญสมาธิและเจริญวิปัสสนาจนชำนิชำนาญเชี่ยวชาญดีแล้วนั่นเอง จึงเกิดเป็นมรรคสมังคีขึ้น ผู้ที่เพ่งฌานจนชำนิชำนาญและพิจารณาสมาธิจนแคล่วคล่องจะเข้าจะออกเมื่อใดก็ได้ตามประสงค์แล้ว หรือพิจารณาปัญญาวิปัสสนาจนทะลุปรุโปร่งแล้วก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อมันจะเกิด มันจะมารวมตัวเข้าเป็นมรรคสมังคีเองโดยที่ไม่มีไครจะแต่งให้เป็นไปได้ แม้แต่พระพุทธองค์เองจะแต่งให้ก็ไม่ได้ แต่เป็นไปด้วยอำนาจของผู้นั้นเองที่บำเพ็ญธรรมทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ท่านได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว หากเกิดบันดาลให้เป็นไปเอง เหมือนกับมะม่วงสุกฉะนั้น เว้นเสียแต่ท่านที่เป็น ขิปปาภิญญา ตรัสรู้เร็วเท่านั้น

    อริยมรรคทั้งแปด มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิจนจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว มิได้ขยับเขยื้อนหวั่นไหวด้วยประการทั้งปวงหมด สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบคือค้นคว้ามาตั้งแต่คำบริกรรมภาวนาตลอดจนถึงวิปัสสนา ดังอธิบายมาแล้วนั้น มีทั้งผิดและถูกหลายรอบหลายตลบ จนแน่แก่ใจว่าความเห็นอันนี้ละจะเป็นไปเพื่อความดับกิเลสดับทุกข์ทั้งปวง แล้วก็ตั้งมั่นดำเนินตามความเห็นนั้น เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ความดำริอื่นมีความใคร่ในกามเป็นต้นมิให้มี จะมีแต่ความดำริเพื่อพ้นจากทุกข์เพียงอย่างเดียว สัมมาวาจา ปิดปากเงียบสนิท ถึงความวิตกอันเป็นเหตุให้เกิดวาจาก็มิได้มี มีแต่ความมุ่งมั่นเพื่อความพ้นจากทุกข์เพียงอย่างเดียว สัมมากัมมันตะ การทำสมาธิก็เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง มิได้ทำเพื่อสะสมกิเลสบาปทั้งปวง สัมมาอาชีวะ ความเป็นอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ ก็เพื่อความพ้นจากทุกข์อย่างเดียว สัมมาวายามะ เพียรพยายามทุกอิริยาบถก็เพื่อความพ้นจากทุกข์โดยแท้ สัมมาสติ ตั้งสติชอบประกอบด้วยกาย วาจา และใจ มีสติไม่ให้เผอเรอไปในอกุศลต่างๆ สัมมาสมาธิ ตั้งใจให้แน่วแน่สู่อารมณ์อันเดียวคือองค์ทั้งเจ็ด ดังอธิบายมาแล้วนั้น มรรคทั้งแปดเมื่อรวมเข้าเป็นหนึ่ง คือสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียว มรรคที่เหลืออีกทั้งเจ็ดก็ชอบด้วยกันทั้งหมด

    มรรคสมังคีนี้ เมื่อธรรมทั้งหลาย มีบริกรรมภาวนากรรมฐานเป็นต้น ดังอธิบายมาแล้วพร้อมบริบูรณ์ มี ศีล สมาธิ และปัญญาสม่ำเสมอกัน ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากันแล้วจึงเกิด เมื่อเกิดก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิด แต่พร้อมด้วยธรรมทั้งหลายแล้วจึงเกิดเอง และเกิดในมรรคนั้น ๆ ทั้ง ๔ มรรคในขณะจิตเดียวเท่านั้น ขณะที่เกิดจิตใจจะปลอดโปร่งสว่างไสวยิ่งนัก ปรากฏว่าธรรมทั้งหลายและโลกทั้งหมดจะมาปรากฏในที่เดียว ความรู้ยิ่งหาประมาณมิได้ แต่ใจก็มิได้ส่งออกไปตามความรู้อันนั้น ยิ่งตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความรู้อันนั้นซึ่งใคร ๆ จะอธิบายให้คนอื่นฟัง หรือคนอื่นจะอธิบายให้เราฟังก็ไม่ถูก เพราะความรู้อันนั้นเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนเองเท่านั้น และความรู้ชนิดนี้จะเกิดมีขึ้นเฉพาะชั้นภูมิของแต่ละท่านเท่านั้น ซ้ำสองหาได้มีทั่วไปแก่บุคคลเหล่าอื่นไม่ ความรู้อันนั้นเกิดในขณะจิตเดียวแล้วก็จะหายไปแล้วจะไม่เกิดอีกในมรรคนั้น ๆ ทุก ๆ มรรคทุก ๆ ภูมิของพระอริยเจ้าจะเป็นอย่างนี้เสมอเสมือนกันทั้งหมด ท่านเรียกจิตขณะนั้นว่า มรรคสมังคี มรรครวมเป็นองค์เดียวกัน หรือ เอกาภิสมัยก็แปลว่าอันเดียวกัน ความรู้อันนั้นเป็นของอัศจรรย์ยิ่งนัก ถึงกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า "น่าอัศจรรย์หนอธรรมอันนี้ไม่เคยเกิดมีขึ้นแก่เรา ได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้"
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    จิตออกจากมรรคสมังคีแล้วไปไหน

    เมื่อจิตรวมเข้าเป็นมรรคสมังคีในขณะจิตเดียวแล้ว จิตนั้นจะถอนออกมาแล้ววิ่งไปตามกระแสของวัฏฏะมีกามเป็นต้น ซึ่งเป็นวิบากของเขา แต่จิตผู้ท่านเป็นพระอริยเจ้ามิได้หลงใหลไปตาม ท่านมีสติตั้งมั่นพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงทุกประการ อธิบายว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายทุก ๆ ชั้นทุก ๆ ภูมิ ก่อนที่ท่านจะถึงมรรคสมังคีท่านได้พิจารณารู้รอบหมดแล้วซึ่งคุณและโทษของวัฏฏะ มีกามคุณ กามกิเลส และสิ่งที่เป็นอุปการะของมัน ฉะนั้น เมื่อจิตท่านถอนออกจากมรรคสมังคีแล้ว ถึงแม้จิตมันจะวิ่งไปตามวิสัยของมัน ก็มิได้ทำให้จิตใจของท่านหลงใหลไปตามมันยิ่งทำให้จิตของท่านตั้งมั่นยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เพราะท่านได้เห็นโทษของมันมาก่อนแล้ว

    นักปฏิบัติทั้งหลายเมื่อปฏิบัติถูกต้องตามธรรมินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของมรรคปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้แล้ว ดังอธิบายมานี้ทุก ๆ ท่าน เว้นเสียแต่ท่านที่เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้เร็ว แต่ถึงขนาดนั้น หลังจากท่านถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้วก็ยังลำดับได้ถูกต้องดีไม่ผิดพลาด

    พรหมจรรย์แล้วก็ยังลำดับได้ถูกต้องดีไม่ผิดพลาด
    นักปฎิบัติทั้งหลายที่ปฏิบัติในพระศาสนานี้ จะปฏิบัติด้วยอาการอย่างไร ๆ ก็ตามเถิด เมื่อปฏิบัติในทางที่ถูกต้องแล้วจะรวมลงถึงมรรคสมังคีเป็นที่สุด การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ เรียกว่าสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้



    http://www.thewayofdhamma.org/page2/เนื้อหาของดี.htm#s0
     
  17. chaodoi

    chaodoi สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    2
    ค่าพลัง:
    +2
    ขอกราบพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

    มีบุญขนาดไหนแล้วที่ได้เกิดในพระพุทธศาสนา
     
  18. วันมงคล

    วันมงคล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    414
    ค่าพลัง:
    +1,303
    ขออนุโมทนาในบุญในกุศลนี้ สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
     

แชร์หน้านี้

Loading...